TUN-HPN 2024
“ประชาชนที่มีสุขภาพดีนับเป็นทรัพยากรอันมีคุณค่าของประเทศ การมีร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตที่ดีเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การดำรงชีวิตอย่างมีความสุข”
จุดเริ่มต้นของ AUN-HPN มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพอาเซียน…
เครือข่ายมหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพอาเซียน (ASEAN University Network-Health Promotion Sub–Network หรือ AUN-HPN) ก่อตั้งขึ้น ในปี ค.ศ. 1995 โดย เพื่อสนับสนุนหลักการในกฎบัตรออตตาวา ( Ottawa Charter for Health Promotion) และมติจากที่ประชุม the 4th ASEAN summit that urged member states to promote “human resource development so as to further strengthen the existing network of leading universities and institutions of higher learning in the region.” เมื่อปี ค.ศ. 1992
เครือข่าย ASEAN University Network – Health Promotion Network (AUN-HPN) เป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระดับภูมิภาคของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการส่งเสริมสุขภาพในสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการมีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสุขภาพ” (Healthy University) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน จำนวน 30 สถาบัน ใน 10 ประเทศ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านกลไกความร่วมมือ ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในการดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ
มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการพิจารณาจาก ASEAN University Network (AUN) ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการของเครือข่าย AUN-HPN โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนการดำเนินงานและกิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของ สสส. การขยายเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ Healthy University ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาและสนับสนุนการนำ Healthy University Framework (HUF) ไปใช้อย่างแพร่หลาย
การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประเมิน Healthy University Rating System (HURS) การส่งเสริมและเผยแพร่ต้นแบบกลไกการทำงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทยไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการขยายผลการดำเนินงานไปสู่ชุมชนและประชาชนให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นต้น
เชื่อมร้อยภาคีระดับนานาชาติ มุ่งสู่การเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพที่เข้มแข็ง…
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) พูดถึงการทำงานสนับสนุนเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ ว่า …. “ปัญหาสุขภาพมีความท้าทาย มีความซับซ้อนตามบริบทแต่ละพื้นที่ ภารกิจ “ป้องกัน ก่อน รักษา” เป็นสิ่งที่ สสส. ยึดมั่นในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพมาโดยตลอด สสส. เชื่อมประสานความร่วมมือภาคีสุขภาพที่เป็นองค์การด้านการศึกษาในระดับนานาชาติ ผ่านงานวิเทศสัมพันธ์ โดยจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) เป็นกลไกคู่ขนานไปกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพอาเซียน AUN-HPN เพื่อทำงานร่วมกันในระดับอาเซียน
จากการประชุมนานาชาติเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา ได้เห็นการเติบโตของเครือข่ายที่มากขึ้น มีหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยเข้าร่วม สิ่งที่เรายึดโยงมาตลอด คือ Healthy University Framework (HUF) เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทั้งในระดับอาเซียนและในประเทศไทย เราไม่ได้รณรงค์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อประชาชน ปัจจุบันมีมากกว่า 40 แห่ง ทั้งอาเซียน นับเป็นการเติบโตที่ก้าวหน้าและเข้มแข็ง
ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า… “สสส. ให้คำมุ่งมั่นในการสนับสนุนทั้งเครือข่าย AUN-HPN และ TUN-HPN เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชากรไทยและนานาชาติมีสุขภาพที่ดีในทุกมิติของชีวิต ”
เครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (TUN-HPN) และ เครือข่ายมหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพอาเซียน AUN-HPN นับเป็นกลไกสำคัญที่สำคัญของการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในทั้งระดับประเทศไทยและนานาชาติ และไม่เพียงแค่ภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนที่แวดล้อม โดยรอบมหาวิทยาลัยอีกด้วย บทบาทการเป็นผู้นำของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมสุขภาพส่งผลต่อการพัฒนานโยบายระดับชาติในด้านต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศประสบความสำเร็จในระยะยาวในการดูแลสุขภาพประชาชน