“โชว์แชร์เชื่อม(พลัส)” เวทีรวมพลภาคี 8 จังหวัดภาคเหนือ ชวนคนทำงาน “ด้านความมั่นคงทางอาหาร” มาเชื่อมกลไกประเด็น+กลไกจังหวัด เตรียมพร้อมเวทีภูมิภาคต่อไป

โชว์แชร์เชื่อม(พลัส)

#ภาคีมีเรื่องเล่า

“โชว์แชร์เชื่อม(พลัส)” เวทีรวมพลภาคี 8 จังหวัดภาคเหนือ ชวนคนทำงาน “ด้านความมั่นคงทางอาหาร” มาเชื่อมกลไกประเด็น+กลไกจังหวัด เตรียมพร้อมเวทีวิชาการภาคเหนือต่อไป

สวัสดีลำพูน เราน้องบัดดี้นะ …

ในที่สุดน้องบัดดี้ก็ได้มาหละปูนนนเจ้า เวทีโชว์ แชร์ เชื่อม : ตอน “ข่วงผะหญา…ฮ่วมฮักษาความมั่นคงทางอาหารภาคเหนือ…ณ หละปูน เมื่อวันที่ 29–30 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน (มจร.ลำพูน)

ที่ดีใจเพราะเวทีครั้งนี้เปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่าย สสส. ที่ทำงานด้านอาหารเพื่อสุขภาวะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน ได้มาเจอหน้าค่าตากันครั้งแรก มาเชื่อมประเด็น เชื่อมงาน เชื่อมพื้นที่ โชว์ศักยภาพ และแชร์วิธีการทำงานในประเด็นที่มาความหลากหลาย อย่างเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” จะบอกว่าเป็นอีกเวทีโชว์แชร์เชื่อมที่เข้มข้นทั้งข้อมูลด้านอาหารมากๆ แต่ก่อนจะเข้าเรื่องอาหาร บัดดี้ขอพาทุกคนไปรู้ถึงเป้าหมายของงานนี้กับพ่องานคนสำคัญก่อนนะครับ ^^

โชว์ (ศักยภาพ) แชร์ (สถานการณ์) เชื่อม (ลงมือทำด้วยกัน) = “โชว์แชร์เชื่อม(พลัส)”

เวทีครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มาเล่าถึงความสำคัญของการจัดเวที โชว์แชร์เชื่อม ตอน “ข่วงผะหญา…ฮ่วมฮักษาความมั่นคงทางอาหารภาคเหนือ…ณ หละปูน และนี่คือ “โชว์แชร์เชื่อมพลัส (+)”..

“ครั้งนี้ไม่ใช่โชว์แชร์เชื่อมธรรมดา พิเศษเพราะเราทำประเด็นอาหารกับภาคเหนือครั้งแรก มุ่งเน้น 8 จังหวัด โดยมีจ.ลำพูนเป็นกลไกจังหวัดคอยเชื่อม ประเด็นหลักๆ ที่คุยกัน คือความมั่นคงทางอาหาร และภาคีทุกคนที่เข้าร่วมคือเป็นชิ้นส่วนในความมั่นคงนั้น ดังนั้น นี่จึงเป็นโชว์แชร์เชื่อมพลัส (+) เราพุ่งเป้าหาทุนทางปัญญา มาระดมสมอง มาโชว์กันว่าใครทำอะไร มีทุนอะไรกันบ้าง , แชร์สถานการณ์ ฐานข้อมูล และเมื่อเห็นทั้งหมดแล้ว ส่วนของการเชื่อมนั้น เราจะเชื่อมประเด็น เชื่อมพื้นที่ เชื่อมการทำงานด้วยกันอย่างไร ผ่านการออกแบบนโยบายสาธารณะด้านความมั่นคงทางอาหารร่วมกันต่อไป”ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวและเล่าว่า

สำหรับบทบาทของ สภส. เราเป็นสำนักที่ทำกับ “ภาคี” เป็นภารกิจเพื่อสร้างสัมพันธ์ภาคีทั้งในและต่างประเทศ และเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ก็เป็นเรื่องสากลที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายมาตลอด เป็นประเด็นสำคัญเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในทุกมิติตามภารกิจของ สสส. และเวทีโชว์แชร์เชื่อม ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนศักยภาพระหว่างภาคีเครือข่าย และประเด็น “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่ในเวทีครั้งนี้ เป็นประเด็นระดับภูมิภาค โดยเราวางโครงสร้างการเคลื่อนงานไว้ 2 ชั้น ได้แก่ 1.กลไกจังหวัด เคลื่อนงานผ่าน 8 จังหวัดภาคเหนือ 2.กลไกประเด็น โดยภาคเหนือทั้ง 8 จังหวัด เรามีงานที่ทำร่วมกัน 3 ประเด็นนำร่อง คือ 1) ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร และนี่คือเวทีแรกที่จ.ลำพูนร่วมมือเป็นกลไกจังหวัด สานพลังภาคีทำงานด้านอาหาร 2) ประเด็นเรื่องอากาศสะอาด สิ่งแวดล้อม มีสภาลมหายใจ จ.เชียงใหม่ ประสานภาคีทั้งหมด และ 3) ประเด็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคีภาคเหนือทำงานกันต่อเนื่อง

ผอ.กบ เล่าต่อว่า ถ้าดูสถิติภาคเหนือ ภาวะทุพโภชนาการหรือภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ดูจากลูกหลานเยาวชนของพวกเรา จะพบว่ามีทั้งขาดสารอาหารและมีเด็กอ้วนเกินเกณฑ์ในภาคเหนือ ส่วนประเด็นเรื่องสารปนเปื้อนในอาหารก็เป็นเรื่องใหญ่ ในส่วนความมั่นคงทางอาหารเราก็กำลังถูกแทนที่ด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกเพื่ออุตสาหกรรม ไม่ได้ปลูกเพื่อกินหรือเพื่อชุมชน ..

“ดังนั้น ตั้งเป้าว่า มองกันยาวๆ ถ้าจะไปถึงการจัดเวทีวิชาการภาคเหนือในอนาคต เวทีโชว์แชร์เชื่อมพลัสครั้งนี้ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเคลื่อนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ เพื่อทำความรู้จัก เก็บฐานข้อมูลภาคีที่ทำเรื่องอาหารตรงกับคนทำงานจริง จึงอยากให้ภาคีทุกท่านที่เข้าร่วมมองภาพร่วมกัน มองไปให้ไกลว่าเราอยากเสนอประเด็นนโยบายใดสู่สาธารณะ ตั้งเป้าเพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนภาคเหนือ จึงอยากฝากให้พวกเราต่องานกันเป็นขบวน เช่น ผู้ซื้อไปผู้ขาย ผู้ปลูกไปสู่ผู้กิน เรายังมีช่องว่างที่สามารถเชื่อมงานกันได้ ซึ่งเป็นความท้าทาย และอยากให้มองไปถึงประเด็นระดับนโยบาย และเมื่อใดที่จนหนทางไร้ทางออกให้นึกถึง Together we can ร่วมกันเราทำได้ เรายังมีเรา มีสภส. มีเพื่อนภาคีร่วมอยู่ในเส้นทางนี้เสมอ”

“ความมั่นคงทางอาหาร” และสถานการณ์สุขภาพ “คนเหนือ”

ขอขยายความคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” อ.ศศิธร สุขจิตต์ จากสถาบันนวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หนึ่งในภาคีภาคเหนือที่เข้าร่วม อธิบายว่า คือสภาวะที่ทุกคน และทุกช่วงเวลาเข้าถึงอาหารได้ เพียงพอ ไม่ว่าจะด้วยความสามารถทางกายภาพหรือเศรษฐกิจก็ตาม อีกทั้งอาหารที่ ได้รับจะต้องปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกาย เพื่อให้เกิดความพึงพอใจ และตอบสนองได้อย่างเหมาะสม โดยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) พบว่า ไทยยังมีจุดอ่อนใน 2 องค์ประกอบ คือ “ความพร้อมและความพอเพียงด้านอาหาร และ คุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ 59 และ 73 ของโลก”

ในส่วนสถานการณ์และสุขภาพคนภาคเหนือที่น่าสนใจ จากข้อมูลของรศ.ดร. วินิตา บุณโยดม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยตัวเลขสารเคมีตกค้างในร่างกาย พบว่า คนเหนือมีสารเคมีตกค้างในร่างกายอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงสุดมากกว่า 10 ปี ในปี 2565 มีสารเคมีตกค้าง 70.3 % รองลงมาคือ ภาคใต้ 58.65 % ภาคกลางและตะวันออก 41.19 % และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37.14 %

“โชว์แชร์เชื่อม ณ หละปูน” จุดเริ่มต้น: อาหารยั่งยืนเพื่อคนเหนือ

บัดดี้อยากชวนทุกคนมาฟังเสียงคนทำงานจริงเสียงจริง ภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านอาหารทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ มีศักยภาพในการขับเคลื่อนหน้างานของตนเองอย่างทรงพลัง อาทิ …

น่าน : “ความมั่นคงทางอาหารอยู่ที่เรื่องที่ดินทำกิน เรทำเรื่อง กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน เริ่มทำในพื้นที่บ้านตนเอง ใน 1 ไร่จะทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อกินเอง เพื่อส่งต่อ และการรวมพลังคนทำงานเพื่อการเกษตร จนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนคนทำกินเมืองน่าน โดยใช้หลักบ้าน วัด โรงเรียน”

ลำปาง : “มีชื่อเสียงด้านเห็ดหอม แต่หลังโควิดมานี้ เห็ดหอมราคาสูงมากขึ้น ทำบางตำบลใช้สารเคมี เราเข้าไปทำความเข้าใจและให้ความรู้ ตอนนี้ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน มีการทำกระเทียมโทนร่วมกับมหาวิทยาลัยราชมงคล จ.ลำปาง พัฒนาคุณภาพ และอยู่ขั้นตอนขออย. นอกจากนี้ เรามีศูนย์สามวัย คือ ผู้สูงอายุ วันเตรียมสูงอายุ และวัยละอ่อน มีการอบรมเดือนละครั้ง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างช่วงวัย”

เชียงใหม่ : “ถือว่าเป็นจังหวัดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ที่มีคนทำงานด้านอาหารปลอดภัย สิ่งที่พบคือ เมื่อเกิดโควิด เราจะพบว่าตลาดปิด ทำให้เราค้นพบว่าเรามีศักยภาพว่าเราปลูกผัก เกิดการคิดต่อ เชื่อมต่อกับสภาอาหารสุขภาพจ.เชียงใหม่ ก่อตั้งกับภาคประชาสังคมและภาครัฐ จุดมุ่งหมาย คือเราตั้งใจเป็นสายพานการผลิต ผักอินทรีย์ ผักปลอดสารของประเทศ และวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ข้อคือ 1.สร้างการรอบรู้ผู้บริโภค 2.เป็นที่ปรึกษา

3.ผลักดันสู่นโยบายสาธารณะ ให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของอาหารปลอดภัย เกิดเป็นธรรมนูญสุขภาพของผู้บริโภค”

นี่แค่ตัวอย่าง 3 จังหวัด เห็นได้ชัดว่า ภาคีภาคเหนือไม่ได้นิ่งนอนใจในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านอาหารที่เกิดขึ้น มีการพัฒนา ปรับตัว และเรียนรู้เพิ่มเติม เชื่อว่าการเดินหน้าขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในเรื่องการได้รับอาหารที่เพียงพอ การเข้าถึงอาหาร การใช้ประโยชน์จากอาหาร และการมีสเถียรภาพด้านอาหาร จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและมั่นคงในภาคเหนืออย่างแน่นอน…

Shares:
QR Code :
QR Code