เวทีโชว์แชร์เชื่อม : ตอน “คนทางพระ สานพลังสร้างสุข ปลุกด้วยไตรพลัง”

ชุมชนตำบลทางพระ

อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง

บริบทชุมชนกับการเปลี่ยนแปลง

ตำบลทางพระตั้งอยู่ที่อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลเดิมเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 และยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลทางพระ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 เทศบาลตำบลทางพระมีพื้นที่ ทั้งหมดโดยประมาณ 12.75 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 7,968 ไร่อยู่ห่างจากอำเภอโพธิ์ทอง ประมาณ 7 กิโลเมตร และมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดตำบลหนองแม่ไก่ อำเภอโพธิ์ทอง , ทิศตะวันออกจดตำบลโคกพุทรา อำเภอโพธิ์ทอง , ทิศใต้จดตำบลคำหยาด อำเภอโพธิ์ทอง , ทิศตะวันตกจดตำบลคำหยาด อำเภอโพธิ์ทอง , เทศบาลตำบลทางพระ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน

จากสถานการณ์ปัญหาต่างๆที่เข้ามากระทบคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาด้านการประกอบอาชีพ และเชื่อมโยงสู่ปัญหาปากท้องของคนในชุมชนทำให้ “ชุมชนตำบลทางพระ” โดนกลืนไปกับสภาพทางสังคม เริ่มมีการอยู่แบบตัวใครตัวมันถึงแม้ในชุมชนจะมองว่าคนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ มีความเป็นเครือญาติแต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ “มิติทางสังคม” และความเป็น “วิถีชุมชน” ถูกกลืนกินไปกับสภาวการณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบ

ประชาคมงดเหล้าจังหวัดอ่างทอง และหน่วยจัดการจังหวัดอ่างทองจึงเข้ามามีบทบาทในฐานะเพื่อนร่วมทาง เริ่มชวนแกนนำตำบลทางพระทำงาน ดังนี้

  • พ.ศ. 2553-2557     เริ่มเข้าไปชวนนายกและนักพัฒนาชุมชนวิเคราะห์สภาพบริบทชุมชน ค้นหาทุนและศักยภาพของชุมชน และชวนทำแผนแม่บทชุมชนโดยใช้เครื่องมือ RECAP (เครื่องมือการเรียนรู้ชุมชนที่ใช้เพื่อช่วยค้นหาทุนทางสังคมของชุมชน ศักยภาพชุมชน ปัญหาและความต้องการของชุมชน) โดยการบูรณาการใช้ร่วมกับแผนแม่บทชุมชนนำไปสู่การส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นไปได้ มีการถอดบทเรียนชุมชน ค้นหารากของปัญหา และชักชวนหน่วยจัดการที่มีความสำคัญใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากที่สุดคือ “อปท.” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • พ.ศ.2557     ชุมชนทางพระเริ่มคุ้นชินกับการทำกิจกรรมที่ไม่เหมือนเดิมเป็นกิจกรรมที่ชุมชนสามารถออกแบบ และทำไปบนวิถีชีวิตของตนเอง คือกิจกรรม “งดเหล้าเข้าพรรษา” โดยมีการประชุมร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด และเชิญอปท.ทุกแห่ง ที่เข้าร่วมกระบวนการการทำข้อตกลงกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด มีการประกาศเป็นนโยบายของจังหวัดอ่างทอง โดยท่านผู้ว่าฯ มีการทำงานกันมาอย่างต่อเนื่อง
  • พ.ศ.2560     เริ่มชวนชุมชนออกแบบกิจกรรมที่เชื่อมและบูรณาการกับกิจกรรมในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานศพ หรือเทศกาลงานบุญต่างๆ ที่สามารถปลอดเหล้า บุหรี่ มีการรณรงค์สร้างกระแส มีการร่วมกันปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษาในระดับจังหวัด
  • พ.ศ.2561     ชวนแกนนำชุมชนสร้าง “กลไก” เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาในชุมชนไม่ใช่แค่เรื่องของการงดเหล้าเข้าพรรษา แต่ให้มองความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต “งดเหล้าได้มากกว่าที่คิด” ชวนคนงดเหล้าระหว่างพรรษา มีองค์กรหน่วยงานหลัก ทั้ง อปท. รพ.สต. ลงพื้นที่ติดตามให้กำลังใจและคัดกรองผู้เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เช่น ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมปลูกผัก ทำน้ำยาล้างจาน โดยทีมประซาคมงดเหล้าลงพื้นที่ไปชวนแกนนำในพื้นที่ทำ เป็นการ “จับมือทำ พาทำ” ร่วมมือกัน และเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน
  • พ.ศ.2562-2565     ชุมชนเริ่มคุ้นชินกับการทำงานในรูปแบบบูรณาการมีความสามารถจัดทำแผนบูรณาการ ที่สอดคล้องกับงานของตนเองได้
    โดยอัตโนมัติ เช่น การบูรณาการงานงดเหล้าที่ทำอยู่กับงานหมู่บ้าน รักษาศีล 5 ของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอ่างทอง โดยใช้กิจกรรม “สื่อรักให้พักเหล้า” เป็นกิจกรรมหลักในการทำหมู่บ้านรักษาศีล 5 ชุมชนคุณธรรมของวัฒนธรรมจังหวัดอ่างทอง
  • ปีพ.ศ.2565 หมู่บ้านวัดจันทร์ ได้รับการสนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุบ้านวัดจันทร์ เนื่องจากสามารถบูรณาการงานของหมู่บ้านรักษาศีล 5 งานงดเหล้า และกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยใช้หลัก 5 อ. (หลักปฏิบัติในการดูและผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม 5 เรื่องคือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ อดิเรก และอนามัย) มีการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับทุนที่มีอยู่ในชุมชนและทำให้แกนนำชุมชนมีศักยภาพในการดำเนินงานกิจกรรมจนเป็นที่โดดเด่นเป็นต้นแบบได้

สิ่งต่างๆทั้งหลายเหล่านี้เกิดได้จาก “กลไกการดำเนินงาน” ที่มีองค์ประกอบจากคนหลักๆ คือน.ส.พรรณปพร เผือกประพันธ์ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ
ที่สามารถลงไปวิเคราะห์ ค้นหากลไกที่สามารถขยับขับเคลื่อนงานได้ ทั้งผู้นำท้องถิ่นนายกฯ ผู้นำท้องที่ กำนัน และหน่วยงานหนุนเสริม อย่าง รพ.สต. สถานศึกษา โรงเรียนและวัด นั่นเอง

 

การขยายการทำงานไปสู่การป้องกันปัญหา

กัญชา กัญชง และกระท่อม ในโรงเรียน

การขยับงานในส่วนของการป้องกันการเข้าถึงกัญชา กัญชง และกระท่อม สู่เด็กและเยาวชนในโรงเรียน เนื่องจากปัจจุบันเราพบสถิติเรื่องของการเข้าถึงบุหรี่
บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กัญซง กระท่อมในเด็กและเยาวซนที่มีอายุน้อยมาก จากสถิติของจังหวัดอ่างทอง พบในเด็กอายุเพียง 10 ปีขึ้นไปในพื้นที่มีการส่งเสริมการปลูกกัญชาหลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อก (วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565) โดยหลังจากที่มีผลักดันให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย จากนั้นได้ต่อยอดมาเพิ่มมูลค่ากลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญซงออกสู่ตลาดอย่างหลากหลาย ทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง ซึ่งมองเห็นว่า ปัจจุบันในพื้นที่ตำบลทางพระกำลังประสบปัญหาจากกัญชา กัญชง ระบาดและรุนแรงมากขึ้นอย่างน่ากังวล มีการปลูก แปรรูป จำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย หาซื้อได้ง่าย ประชาชนทั่วไป รวมถึงเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงง่าย เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างชัดเจน ทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่หลงผิด ทดลองและเสพกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งเด็กและเยาวชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยง โทษ และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่นำกัญชา กัญชงมาใช้ ปัญหาจากกัญชา กัญซง จึงส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในชุมชน ทั้งเรื่องสุขภาพกาย จิต การศึกษา ความรุนแรงในครอบครัว ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน อุบัติเหตุ และเกิดการทะเลาะวิวาทกัน

กลุ่มเด็กและเยาวชนตำบลทางพระจึงรวมกลุ่มกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยปรึกษาผู้นำชุมชน พี่เลี้ยงในชุมชน เพื่อให้คำแนะนำเรื่องกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างเส้ริมสุขภาพ ลดโอกาสการเข้าถึงกัญชา กัญชง และกระท่อม ในกลุ่มเด็กและเยาวชนขึ้น จึงร่วมกันเสนอโครงการเด็กและเยาวชนทางพระร่วมใจห่างกลกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อป้องกันการเข้าถึงกัญชา กัญชง และกระท่อม สร้างคณะทำงาน สร้างกลไกในการป้องกันการเข้าถึงกัญชา กัญชงและ
กระท่อม ในเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่ตำบลทางพระกับสสส. เพื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสารเผยแพร่ความรู้ ประโยชน์และโทษของ กัญชา กัญชง กระท่อม และสารเสพติดอื่นๆรวมถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถตัดสินใจ และทำให้ห่างไกลปัญหาต่างๆ ได้ โดยมีกิจกรรมดังนี้

  1. กิจกรรมที่คณะทำงานมาร่วมกันประชุมออกแบบและสรุปผลการดำเนินงาน
  2. กิจกรรมการสำรวจข้อมูลทั้งด้านร้านค้าที่ขาย ร้านค้าในตลาดนัด และสำรวจชุมซน ทำแผนที่จุดเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งมั่วสุมให้เกิดการเข้าถึงกัญชา กระท่อมและสิ่งเสพติดได้ง่าย
  3. กิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องพิษภัยของกัญชา กัญชง กระท่อม และสิ่งเสพติดอื่นๆ โดยร่วมมือกับ อปท.และรพ.สต.
  4. กิจกรรมรณรงค์สร้างกระแสเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ และสร้างความรอบรู้ด้านกัญชา กัญชง กระท่อมและสิ่งเสพติดอื่นๆ

 

ภาพฝัน/เป้าหมายการทำงานในอนาคต

เป้าหมายของการดำเนินงานในอนาคตคือ “เป็นชุมชนจัดการตนเอง” สามารถเป็นกลไกชุมชนที่มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา และทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะของคนในชุมชนได้อย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่ทำเรื่องลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ไม่ใช่เพียงทำงานเพื่อตอบสนองหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงาน ฃแหล่งทุนอื่นๆที่เข้ามาหนุนเสริม แต่กลไกชุมชนจัดการตนเองจะสามารถรับมือกับสภาวการณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบได้ โดยใช้ทุนทางสังคมของชุมชน ทุนทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code