เชื่อมประสานภาคีสุขภาวะภาคใต้ สานพลังยกระดับชุมชน ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพจากสารเคมี ให้ ผู้ผลิตปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เดินหน้าพัฒนาเกษตรกร Gen ใหม่ เสริมพลังสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวใต้
น้องบัดดี้ภูมิใจนำเสนอ ซีรี่ส์สุขภาวะดี 4 ภาค ที่จะเล่าเรื่องราวการเดินทางของการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะในแต่ละภาคของประเทศไทย จากพี่น้องภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้วยหัวใจของนักสร้างเสริมสุขภาวะ
วันนี้ขอเสนอเรื่องราวของชาวปักษ์ใต้ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม โดยเฉพาะอาหารใต้ ด้วยรสชาติที่เข้มข้น จัดจ้านเรียกได้ว่าถูกปาก ถูกใจหลาย ๆ คน และที่เป็นเสน่ห์แทบทุกเมนูของอาหารใต้ก็คือต้องมีผักสด ๆ รับประทานคู่กันเสมอ แต่ผักต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารนั้น ส่วนมากยังผ่านกระบวนการในการผลิตที่ยังไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในร่างกาย
เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้แล้ว ภาคีเครือข่ายภาคใต้จะมีการทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพอย่างไร มีความท้าทายอะไรบ้าง ไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันเลยครับ
…….
ภาคใต้!!!!!
เชื่อมประสานภาคีสุขภาวะภาคใต้ สานพลังยกระดับชุมชน ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพจากสารเคมี ให้ ผู้ผลิตปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เดินหน้าพัฒนาเกษตรกร Gen ใหม่ เสริมพลังสร้างความมั่นคงทางอาหารบนฐานจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวใต้
…ความท้าทาย คือสารเคมีตกค้างในร่างกายที่ไม่มีใครมองเห็น ถึงเวลาที่ทุกคนต้องปรับตัว…
คำบอกเล่าจาก คุณทวีวัตร เครือสาย หรือพี่เผือก ภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคใต้ ที่เล่าถึงสถานการณ์การปนเปื้อนสารเคมีตกค้างในร่างกายของคนใต้ ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการบริโภคผักสด ผลไม้ สะท้อนให้เห็นได้จากการตรวจปริมาณสารเคมีตกค้างในร่างกายของคนใต้ พบว่า ร้อยละ 69 อยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDS ซึ่งอันดับต้น ๆ คือ โรคมะเร็ง และการนำเข้าผักมาบริโภค เดือนกว่าละ 60 ตันในตลาดชุมพร จังหวัดอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกัน
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของภาคใต้ยังมีความซับซ้อน จำเป็นต้องปรับทิศทางให้มองเป้าหมายเดียวกัน นั้นคือ อาหารปลอดภัยที่เพียงพอสำหรับคนใต้ จากความท้าทายในพื้นที่ที่เกิดขึ้น จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับชาวใต้ทุกคน
…เชื่อมประสานภาคีด้วยวิถีแนวราบ สานงานข้ามพื้นที่-ข้ามประเด็น สร้างสุขภาวะที่ดีให้คนใต้…
พี่เผือกเล่าว่า “การทำงานเพื่อสุขภาวะของคนใต้ทำคนเดียวไม่ได้อย่างแน่นอน และทุกจังหวัดไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งปัญหา สสส. ให้ความสำคัญกับทุกภาค แต่ในพื้นที่ภาคใต้มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิประเทศ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากร ประเด็นอาหารกับผู้สูงอายุ ภาคใต้จำเป็นต้องทำงานต่อเนื่องในระยะยาวจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี
การสร้างเสริมสุขภาวะในภาคใต้ ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) ในการเชื่อมประสานภาคีสุขภาวะที่เกี่ยวข้องในภาคใต้ ทำให้เกิด “ความเป็นเครือข่ายสุขภาวะที่เข้มแข็ง” ด้วยวิถีการทำงานใน “แนวราบ” ได้พบเพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาและแนวทางแก้ไขของแต่ละพื้นที่ จนนำไปสู่การทำงานข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น มุ่งเน้นกระบวนการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ตรงจุด และเกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง นอกจากนั้นภาคใต้ยังมีหน่วยประสานจัดการที่เข้มแข็ง หรือที่เรียกกันว่า Node Flagship ใน 6 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ชุมพร สงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช และยะลา โดยเฉพาะทางด้านวิชาการที่มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นตัวกลางเชื่อมประสานเครือข่ายวิชาการในภูมิภาคมาเสริมพลังดำเนินงานของภาคีเครือข่าย ช่วยยกระดับการทำงานสุขภาวะภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
พี่เผือกกล่าวเสริมอีกว่า “ที่ผ่านมา สภส. สนับสนุนให้มีการเชื่อมประสานการทำงานของภาคีเครือข่ายภาคใต้ ในโครงการเชื่อมประสานเครือข่ายสุขภาวะ และ “สร้างสุขภาคใต้” เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เชื่อมประสานภาคี กลุ่มเครือข่ายและพื้นที่ให้เกิดการทำงานข้ามประเด็น ข้ามพื้นที่กัน จนเกิดเป็นผลลัพธ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น กลไกใหม่ของการทำงานระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับจังหวัด ได้แนวทางการกำจัดช่องว่างในการจัดการปัญหาสุขภาพจากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาพัฒนางานสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่ของตนเอง ได้เรียนรู้ถึงการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะช่วยขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะในพื้นที่ภาคใต้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน
ตลอดจนเปิดเวที “โชว์ แชร์ เชื่อม” โดยจัดขึ้นในหลายจังหวัด เช่น ตรัง ระนอง สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และสตูล นับเป็นพื้นที่สำคัญในการปลุกกระแสให้คนใต้ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ที่แฝงมากับอาหารที่ไม่ปลอดภัย จนนำมาสู่การผลักดันให้ทุกครัวเรือนสร้างความมั่นคงทางอาหาร”
… เกษตรกรรุ่นใหม่ key point สำคัญของการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน และระบบอาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน…
พี่เผือก ยังกล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย เป้าหมายคือเกษตรกรรมยั่งยืน 5 รูปแบบ เกษตรทฤษฎีใหม่ ,เกษตรผสมผสาน,เกษตรอินทรีย์,วนเกษตร,เกษตรธรรมชาติ รวมถึงสวนยางยั่งยืน ที่เครือข่ายเกษตรกรสวนยางพาราภาคใต้ได้พัฒนารูปแบบ กำลงขยายผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสานซึ่งเป็นทางรอดของเกษตรกรรายย่อย การเริ่มทำเกษตรปลอดภัยก่อน โดยทำงานใน 3 ระดับ สำคัญ เริ่มที่ระดับที่ 1 ผลผลิตจะต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้วัสดุธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี ระดับที่ 2 กลางน้ำคือ ผู้แปรรูป ผู้ขนส่ง ภาคใต้ทำ 4 มาตรฐาน คือ มาตรฐาน GAP มาตรฐานรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) มาตรฐาน Organic Thailand และมาตรฐานการผลิตและควบคุม (GMP)
สุดท้าย ระดับที่ 3 ปลายน้ำ คือผู้บริโภค โดยการสร้างและพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการ เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายผู้ผลิตพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษ พร้อมกับส่งเสริมจัดการตลาด 4 รูปแบบ หนึ่งตลาดหน้าฟาร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สองตลาดท้องถิ่น จุดกระจาย แลกเปลี่ยนผลผลิต ผลิตภัณฑ์ในชุมชนท้องถิ่น เช่น ตลาดใต้เคี่ยม ตลาดอินทรีย์ ตลาดนัดหัวท่า ตลาดนัดสวี ฯ สามตลาดในตลาดหรือจัดอีเว้นท์ รวมถึงออกบูธงานแสดงสินค้าร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ และสี่ตลาดคู่ค้าหรือโมเดินเทรด ซึ่งปัจจุบันกำลังพัฒนาระบบคือ ตลาดคู่ค้าผ่านแพลตฟอร์ม OEM อีกด้วย
นอกจากนี้ พี่เผือกยังให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “เกษตรกรคนรุ่นใหม่จะเป็น key point สำคัญของความสำเร็จ ที่ขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัยร่วมกับสถาบันเกษตรกร ให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้ประกอบการในการยกระดับและสร้างอาหารปลอดภัยในภาคใต้”
…“ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อเนื่อง” ผลักดันจังหวัดทำ Road Map ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยในภาคใต้
ขณะนี้ได้เชื่อมประสานภาคีสุขภาวะภาคใต้ร่วมผลักดันความมั่นคงทางอาหารเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัด (Road Map) มีจุดเน้นใน 6 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ตรัง สงขลา ยะลา นครศรีธรรมราช และชุมพร โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย เช่น กลุ่มข้าว กลุ่มผักพื้นบ้าน ไม้ผล ปศุสัตว์อินทรีย์ สวนยางยั่งยืน สวนปาล์มยั่งยืน และประมงยั่งยืน สำหรับหน่วยงานที่ร่วมกันส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ซึ่งได้บรรจุเรื่องนี้ในแผนปฏิบัติราชการ 5 ปี การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก็มีนโยบายแผนงานโครงการสนับสนุนสวนยางยั่งยืน และปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการให้เกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ ตามแนวคิดในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน
…ขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัย สู่สุขภาวะดียั่งยืนของคนใต้
สสส. พร้อมสานพลังภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคใต้ ขับเคลื่อนภารกิจสร้างนำซ่อม สร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้กับภาคใต้และภาคอื่น ๆ ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินอาหารของคนใต้ นับเป็นโจทย์สำคัญที่มีความท้าทายและจำเป็นต้องอาศัยการทำงานที่ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันทั้งระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การจำหน่าย ตลอดจนการปรุงอาหารและการบริโภค เพื่อให้ปักษ์ใต้บ้านเรามีอาหารปลอดภัย เข้าถึงผักผลไม้และอาหารที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับสุขภาพได้มากขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนของชาวใต้