เชื่อมงาน เสริมพลังภาคีสุขภาวะ สานงานงดเหล้าเข้าพรรษา สร้างสุขสู่ชุมชน

#ภาคีมีเรื่อง(เล่า)

รู้ไหมครับว่า❓ คนรู้จัก สสส. จากอะไร ❓

น้องบัดดี้เชื่ออย่างยิ่งเลยว่าคำตอบที่จะได้ ทุกคนแทบจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “มาจากโฆษณา จน เครียด กินเหล้า” ที่หลาย ๆ คนเคยได้ยินจนติดหูนั่นเอง ถ้าได้ยินเมื่อไหร่ ต้องนึกถึง สสส. ทันที ❗❗❗ แบบนั้นเลยล่ะครับ

และถือเป็นโอกาสดีในช่วงเข้าพรรษนี้ น้องบัดดี้อยากพาพี่ ๆ มาเรียนรู้ว่า ภาคีเครือข่ายที่ทำ “โครงการ ลด ละ เลิกเหล้า” ในแต่ละจังหวัด แต่ละภาคของประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นจากอะไร และมีแนวทางการทำงานที่น่าสนใจอย่างไร ไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันเลยครับ 🏃‍♀️🏃

เริ่มจากตัวแทนภาคอีสานกันก่อนเลยครับ กับ ผู้ใหญ่แสนฮวม ด้วงคำภา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลหนองสังข์ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เล่าว่า

“…เราได้ขับเคลื่อนโครงการงดเหล้า มาแล้ว 5 ปีเป็นโครงการของ สสส. ตั้งแต่ปี 2561 มีกิจกรรมต่อเนื่อง รณรงค์สร้างความเข้าใจ โดยเราไปคุยกับร้านค้าในชุมชนของเรา จัดให้มีกติกาของชุมชน มีกติกาของร้านค้า
ตั้งกติกาไว้เลย โดยขอความร่วมมือว่า ห้ามจำหน่ายสุรา หรือดื่มสุราในงาน หรือบริเวณใกล้ร้านค้า ห้ามตั้งกลุ่มกินเหล้า”

จากภาคอีสานแล้ว มาฟังเสียงภาคีงดเหล้า ภาคกลางกันบ้าง กับพี่สร้อยทอง ออกบัว เล่าจุดเริ่มต้น “โครงการลด ละ เลิก การดื่มแอลกอฮอล์” ในชุมชนบ้านท่ากระดาน หมู่ 1 บ้านท่ากระดาน ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่า “….

“…เริ่มทำโครงการลด ละ เลิกเหล้ากับ สสส. ตั้งแต่ปี 2564 แต่ชุมชน หมู่ 1 บ้านท่ากระดาน เคยมีประสบการณ์ในการทำเรื่องโครงการงดเหล้าอยู่แล้ว ส่วนภาคีในระดับจังหวัดมีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ผ่านสมาคมคนรักแปดริ้ว ตรงนั้นเราทำกันมาต่อเนื่องหลายปี โดยมีวัดในแต่ละอำเภอที่สมัครร่วม “งดเหล้า…เข้าพรรษา” ได้มีการลงนาม ทำกันมาหลายปีแล้ว พื้นที่ที่ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง คือ หมู่ 1 บ้านท่ากระดาน และได้รับการยืนยันว่า คนที่เข้าร่วมโครงการกับเรา มีที่สามารถคนเลิกเหล้าได้ถาวร…”

พามาล่องใต้กันบ้าง กับ พี่กัลยา เอี่ยวสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานประชาคมงดเหล้า จังหวัดปัตตานี และภาคีเครือข่าย สสส. พี่กัลยาเล่าว่า

“…ได้เริ่มทำโครงการงดเหล้า ตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้กิจกรรมการรณรงค์ จะมีเรื่องงดเหล้าเข้าพรรษา ลอยกระทงปลอดเหล้า เทศกาลอาหาร “อร่อยได้ .. ไร้แอลกอฮอล์” รวมทั้งมีกิจกรรมร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ ภายใต้การทำงานของ ศปถ. หรือศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน อีกส่วนหนึ่งคือสำนักงานประชาคมงดเหล้า จังหวัดปัตตานี
เรามีกติการ่วมกันว่า เราจะไม่สูบบุหรี่ในสถานที่จัดงาน เราจะไม่ดื่มเหล้าในสถานที่ที่จัดกิจกรรม นี่คือก้าวแรกของการทำงาน…”

มาต่อกันที่ภาคเหนือ กับ ผู้ใหญ่นพ กรณ์ภัสสรณ์ นาคคชสีห์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 พัฒนา ตำบลบ้านแก่ง อำเภอ
ตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้ใหญ่นพเล่าว่า

“…พื้นที่ตำบลบ้านแกร่งของเรา ดำเนินโครงการลด ละ เลิกเหล้าในชุมชนมานาน ตั้งแต่ปี 2560 ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก สสส. ช่วงแรก ๆ ที่ทำคนในชุมชนก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วย เราทำงานผ่านกลไกสภาผู้นำชุมชน เราทำมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ในชุมชนของเราจะมีแนวทางการทำกิจกรรมคือ งานบุญปลอดเหล้า งานศพปลอดเหล้า โดยเราจะทำความเข้าใจกับลูกบ้าน ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราจัดงานโดยไม่มีแอลกอฮอล์ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดงานลงไปได้เยอะมาก และตัวเลขที่น่าตกที่เคยเจอมาคือ เกือบ 40,000 บาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เยอะมาก เพราะที่ผ่านมาชุมชนยังไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ พอเราเข้าทำงาน ไปทำให้เขาเห็นและเข้าใจ ชุมชนก็ให้การตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมลด ละ เลิกเหล้ากับเรามากขึ้น และทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน”

เชื่อมงาน สานพลัง เห็นผลลัพธ์การทำงานใหม่ ๆ ภาคีสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน เข้าใจในเป้าหมายและวิธีทำงานตรงกัน บันไดสำคัญของการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพให้สำเร็จ

ผู้ใหญ่แสนฮวม “….เราจะมีกลุ่มไลน์ชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสาร กิจกรรม ก็เชิญภาคีเครือข่ายมาร่วมด้วย เพื่อกระจายให้ภาคีเครือข่ายได้รับรู้ และได้มีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ ในชุมชนของเรา ผู้นำชุมชนในหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวน 6 หมู่บ้าน ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง บางครัวเรือนก็ทำด้วย คือเขาเห็นเราทำแล้วดี เขาก็ทำตามอัตโนมัติ ทำให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ คือ เรามีภาคีเครือข่ายมากขึ้น และร่วมผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ให้กับชุมชน ให้กับหมู่บ้านของเรา มีมาตรฐานเพิ่มขึ้นหลายเท่าในทุกประเด็น ทั้งในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด”

ผู้ใหญ่นพ “…สำหรับผม การทำงานจะสำเร็จได้ เราต้องมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ก็คือภาคีเครือข่ายของเรา พื้นที่ตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอนที่ผมดูแลอยู่นี้ หลังจากชุมชนของเราทำโครงการได้สำเร็จในระดับหนึ่ง
ก็ได้มีการขยายงาน เชื่อมประสานไปยังชุมชนใกล้เคียง เราไปเป็นพี่เลี้ยงให้เขา ทำให้เขาเห็นเป้าหมายเดียวกันกับเรา การทำงานแบบเชื่อมประสาน ทำให้เกิดภาคีใหม่ ๆ ได้เห็นมุมมองการทำงานที่กว้างขึ้น บางเรื่องเราเรียนรู้จากเขา บางเรื่องเขาเรียนรู้จากเรา แต่ทุกชุมชนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การทำให้คนในชุมชนห่างไกลปัจจัยเสี่ยง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

พี่สร้อยทอง “…ทำงานสร้างเสริมสุขภาพ การใช้แนวทางเชื่อมประสานภาคีเครือข่าย เป็นแนวทางที่ สภส. สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางเดียวกัน ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เราเห็นแล้วว่า
การทำงานโดยใช้กลไกนี้ ทำให้เราดำเนินโครงการลด ละ เลิก เหล้า มาอย่างต่อเนื่อง เกิดภาคีใหม่ที่เข้ามาร่วมงานด้วย ทำให้เราได้ขยายงานสร้างเสริมสุขภาพไปยังพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น ได้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย ได้เรียนรู้บริบทการทำงานของแต่ละชุมชน เป็นความแตกต่างที่เข้ามาเติมเต็ม ให้การทำงานสร้างเสริมสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

พี่กัลยา “…การทำงานสร้างเสริมสุขภาพ เป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
การมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะทำให้เราขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมาย ที่ผ่านในในพื้นที่ปัตตานี เราใช้กลไลการทำงานแบบเชื่อมประสาน ทำงานที่สามารถทำได้ข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น ทำให้เราเจอกับภาคี
ใหม่ ๆ ได้ขยายพื้นที่การทำงานมากขึ้น การที่ภาคีเป็นเนื้อเดียวกัน คือเข้าใจและมีเป้าหมายตรงกัน ตรงนี้ทำให้ปัตตานีในทุกวันนี้สามารถขับเคลื่อนงานลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมจะขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายร่วม คือ การเป็นภาคใต้แห่งความสุข”

เห็นไหมครับ สสส. ได้ดำเนินการโครงการลด ละ เลิกเหล้า ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่องมานาน วันนี้ น้องบัดดี้อยากบอกต่อผลลัพธ์โครงการนี้ให้พี่ ๆ ทุกคนทราบจากปากของพี่ ๆ ภาคีเครือข่ายที่ทำงานจริงกันครับ

ผู้ใหญ่แสนฮวม “…ช่วงที่เราทำ จะมีผู้ที่เสนอตัวจำนวน 5 คน โดยสัญญาว่าจะเลิกเหล้า เลิกสูบบุหรี่ ทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนของเรา มีการประกาศคนหัวใจเพชรสีขาว ประกาศรับสมัครตัวแทนเพื่อลด ละ เลิกเหล้า หรืออบายมุขต่างๆ ตอนที่ทำโครงการ มีจำนวน 5 คนที่เลิกเด็ดขาด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ตอนนี้ก็ยังคงทำปกติอยู่ สุขภาพร่างกายดี มีการส่งเสริมการออกกำลังกาย คุณภาพชีวิตดีขึ้น”

พี่สร้อยทอง เล่าให้ฟังว่า “…ในชุมชนจะมีผู้ใหญ่บ้านเป็นทีมงานของเราอยู่แล้ว และมีแกนนำในชุมชนที่เป็นทั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็น อสม. เป็นแกนนำที่สนใจเรื่องนี้ ใช้กลไกสภาผู้นำชุมชนในการทำงาน และได้การตอบรับความร่วมมือที่ดีจากหลายชุมชน ทุกปีในช่วงเข้าพรรษา เราจะมีการรณรงค์งดเหล้า ในปีนี้เราจัดกิจกรรมในพื้นที่ เครือข่ายของเราไปร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด เรื่อง ไกลเหล้า ไกลโรค ไกลอุบัติเหตุ ด้วยวิธี 1 ลด 3 เพิ่ม”

พี่กัลยา เล่าว่า “…ตอนนี้เรามีเครือข่ายงดเหล้ากว่า 113 ตำบล และจะมีเครือข่ายอำเภอ เราใช้กลไกการทำงานระดับจังหวัด ในเรื่องของประเด็นปัจจัยเสี่ยง การรณรงค์ในเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือว่าการพัฒนาศักยภาพกลไกคนทำงาน ภายใต้โครงสร้างคณะทำงานมี 3 ภาคส่วน คือ ภาคประชาชน ภาครัฐ ในพื้นที่ที่เขามาทำงานร่วมกัน จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามาร่วมด้วย เรามุ่งเน้นในเรื่องการดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลงานต่าง ๆ ณ วันนี้ เรามีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งในหลายพื้นที่ที่จะร่วมสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในภาคใต้”

ผู้ใหญ่นพ เล่าว่า “…หลังจากที่เราทำโครงการงดเหล้ามาโดยตลอด สามารถพิสูจน์ให้ชุมชนเห็นว่า การลด ละ เลิกเหล้า มีผลดีต่อเขาอย่างไร ขอบคุณ สสส. ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงที่ดี ทำให้มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน จนสามารถดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง ถึงแม้วันนี้ผลลัพธ์ที่ได้อาจยังไม่ฝั่ง แต่เราได้สร้างการรับรู้ให้กับชุมชน ทำให้เขาว่า การเลิกเหล้า ทำให้สุขภาพดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น”

น้องบัดดี้เชื่อเสมอครับว่า การทำงานสร้างเสริมสุขภาพจะสำเร็จได้ เราต้องมีเพื่อนร่วมเดินทางที่ดี มีภาคีเครือข่ายที่เป็นเนื้อเดียวการ ที่จะเชื่อมประสานการทำงาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และช่วยสานงาน เสริมพลังให้กัน เพื่อให้ถึงเป้าหมาย คือการเห็นคนในชุมชน ในพื้นที่ มีสุขภาวะที่ดี ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ

ยังมีโครงการลด ละ เลิก เหล้า อีกมากมาย ที่ประสบความสำเร็จที่น้องบัดดี้อยากบอกต่ออีกหลาย ๆ โครงการเลยล่ะครับ ไว้คราวหน้าน้องบัดดี้จะมาเล่าให้พี่ ๆ ฟังใหม่นะครับ พบกันครั้งหน้าครับ ….

Shares:
QR Code :
QR Code