เครือข่ายสาธารณสุขไทยเตรียมพร้อมจัด PMAC 2025 ชู “การใช้เทคโนโลยีในยุค AI เพื่อสร้างโลกที่สุขภาพดีขึ้น”
สวัสดีเพื่อนๆ ภาคีทุกท่านครับ น้องบัดดี้นำข่าวเกี่ยวกับ การประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award Conference: PMAC) มาฝากครับ
เมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมามีการประชุมเตรียมความพร้อมครั้งที่ 4 สำหรับ Prince Mahidol Award Conference (PMAC) 2025 ที่โรงแรม Centara Grand Beach Resort จ.ภูเก็ต ไปเรียบร้อยแล้วครับ การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อวางแผนแนวทางการจัดงาน PMAC 2025 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ในกรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “Harnessing Technologies in an Age of AI to Build a Healthier World” (การใช้เทคโนโลยีในยุค AI เพื่อสร้างโลกที่สุขภาพดีขึ้น) ครับ
ทำความรู้จัก PMAC
การประชุม Prince Mahidol Award Conference (PMAC) เป็นเวทีระดับโลกที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาด้านสาธารณสุขทั่วโลก โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย กิจกรรมนี้เริ่มต้นขึ้นเพื่อยกย่องพระกรณียกิจของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ “พระบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ของไทย” ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
การประชุม PMAC มีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 และจัดขึ้นเป็นประจำหลังจากนั้นทุกปี โดยมีเนื้อหาเน้นไปที่ประเด็นนโยบายสาธารณสุขที่ส่งเสริมการเข้าถึงสุขภาพที่เท่าเทียมกันทั่วโลก และเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศไทยยังได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งหนึ่งของโลก
วัตถุประสงค์หลักของการประชุม PMAC คือการสนับสนุนการพัฒนาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข โดยเฉพาะการพัฒนา Universal Health Coverage (UHC) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่ต้องเผชิญกับภาระทางการเงินที่สูงเกินไป นอกจากนี้ การประชุมยังครอบคลุมหัวข้อสำคัญต่าง ๆ เช่น การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ความเสมอภาคทางสุขภาพ และการจัดการปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
PMAC ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหน่วยงานที่สำคัญทั้งภายในประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศ ได้แก่ มูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ รัฐบาลไทย และองค์กรพันธมิตรระดับโลก เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO), ธนาคารโลก, USAID, JICA, Rockefeller Foundation และหน่วยงานอื่น ๆ ของสหประชาชาติ
PMAC 2025 การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรโลก
ในการประชุม PMAC 2025 ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม 2568 นั้น มีหัวข้อหลักของการประชุมคือ “Harnessing Technologies in an Age of AI to Build a Healthier World” ซึ่งเน้นถึงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรโลกและเสริมสร้างระบบสาธารณสุข ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างระบบสาธารณสุข การลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงทุกคน และการจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ AI นอกจากนี้ยังมีการเชิญนักวิจัยและผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานโดดเด่นเข้าร่วมการนำเสนอผลงานใน PMAC 2025 อีกด้วย
การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบสุขภาพเพื่อให้เกิดผลกระทบที่ดีในระดับโลก รวมถึงการเตรียมแนวทางในการแบ่งปันประสบการณ์และนวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพเร่งด่วนได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขและนักวิชาการจากทั่วโลก เพื่อจัดเตรียมแนวทางในการพัฒนาการประชุม PMAC 2025 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในระดับสากล
สรุปและวิเคราะห์แผนงาน PMAC มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพโลก
ในการประชุมเตรียมความพร้อมครั้งที่ 4 นี้ ได้มีการกล่าวถึงแผนงานของ PMAC โดยกำหนดกลยุทธ์หลัก 4 ประการ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพโลก ได้แก่ การกำหนดนโยบาย (Policy Formulation) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Movement) การสร้างความตระหนัก (Awareness Building & Advocacy): และการสร้างและพัฒนาศักยภาพ (Catalyst and Capacity Building) โดยมีเป้าหมายหลักคือการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์จากการประชุม PMAC เพื่อส่งเสริมการกำหนดนโยบายสุขภาพระดับโลก สร้างความตระหนักรู้ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพทั่วโลก
โดยมีการกำหนดกลยุทธ์หลัก 7 กลยุทธ์ในการนำผลลัพธ์จากการประชุมไปใช้เพื่อส่งเสริมนโยบายสุขภาพระดับโลก นำไปสู่เป้าหมายหลัก”การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในด้านสุขภาพของประชาชนทั่วโลก” ข้อ คือ
1.สร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ รวบรวมข้อมูลจากการประชุมและวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน พัฒนาเอกสารเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบาย
2.สร้างฐานข้อมูลความรู้ พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เข้าถึงง่าย เพื่อให้ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ และรวบรวมข้อมูลทั้งเอกสารวิชาการ ผลการวิจัย และนโยบายที่เกิดจากการประชุม
3.ขยายผลสู่สาธารณะ ใช้ช่องทางสื่อสารที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมผ่านการสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจและเชิญชวนให้มีส่วนร่วม
4.สร้างพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนการสนทนาทางนโยบาย เช่น จัดการประชุมย่อยและกิจกรรมร่วมกับองค์กรพันธมิตรในเวทีระดับโลก เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) สหประชาชาติ (UN) และการประชุมภาคี (COP) เพื่อเผยแพร่ผลการวิจัยและความรู้จากการประชุม PMAC ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในการจัดการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพที่สำคัญ
5.ส่งเสริมบทบาทเยาวชน เช่น จัดตั้งโครงการมอบทุนให้เยาวชนได้เข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพระดับโลก และสร้างโอกาสให้เยาวชนได้พบปะกับผู้เชี่ยวชาญและมีส่วนร่วมในการอภิปรายนโยบายสุขภาพ
6.จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ เช่น เวิร์คช็อปการเรียนรู้แบบเพื่อนกับเพื่อนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้นำความรู้จากการประชุม PMAC ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา
7.จัดตั้งโครงการพัฒนานักผู้นำด้านสุขภาพระดับโลก เกิดโครงการสนับสนุนให้บุคคลที่มีศักยภาพได้เข้าร่วมโครงการพัฒนานักผู้นำด้านสุขภาพ และพัฒนาทักษะที่หลากหลายให้ผู้เข้าร่วม เช่น การเป็นเมนเทอร์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และประสบการณ์ทำงานจริงในองค์กรระหว่างประเทศ
แน่นอนว่า สสส. โดยสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) ได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ (International Organising Committee) ร่วมออกแบบโปรแกรมการประชุม และเป็น co-host sessions ต่างๆ ของการประชุมที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย และในการประชุม PMAC 2025 สสส. ได้รับเป็นเจ้าภาพร่วมในการดำเนินการจัดการประชุมหัวข้อย่อย 4 การประชุมดังนี้
- PS 2.2 การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม (Harnessing Tech to Achieve Equitable Health Outcome)
- PS 2.5 ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีสุขภาพต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม(Potential Impact of Health Tech on Climate and Environment)
- PS 3.3 การบรรเทาผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ (Mitigating Undesirable Outcomes)
- PS 3.4 การป้องกันความไม่สมดุลผ่านธรรมาภิบาล (Preventing Asymmetries through Good Governance)
สำหรับการประชุม PMAC 2025 ต้นปี 2568 นั้นจะมีข่าวสาร-ประเด็นที่น่าสนใที่จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนภาคี น้องบัดดี้จะนำมาบอกอีกครั้งนะครับ ฝากเพื่อนๆ ติดตามกันได้เลยครับ