สุขภาพจิตของคนอีสาน
ภาคชุมชน
บริบท (สภาพการณ์ที่มีความซับซ้อน, สถานการณ์ที่มีความรุนแรง)
หมู่บ้านสมนรินทร์ ตั้งอยู่ในอําเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี มีลักษณะเป็นชุมชนชนบท ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่เกิดจากการรวมตัวของครอบครัวที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่ชุมชนอื่นและจังหวัดอื่น รวมตัวกันเกิดขึ้นเป็นหมู่บ้านเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ด้วยภูมิหลังการเกิดขึ้นของชุมชนหมู่บ้านสมนรินทร์ ที่มาจากครอบครัวที่หลากหลายภูมิหลังและวัฒนธรรม ทําให้ต่างครอบครัวต่างมีวิถีปฏิบัติของตนเอง การที่จะหาแนวทางร่วมที่เป็นหลักในการยึดถือปฏิบัติร่วมกันเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ยาก เพราะความเชื่อและวิธีคิดที่เป็นเฉพาะของถิ่นฐานของตนแต่ดั้งเดิมยังอยู่ในกรอบคิดของครอบครัวนั้นๆ
เวลาที่ผ่านมากว่า 30 ปีที่ควรจะมีการหลอมรวมแนวทางหรือแนวคิดที่บ่มเพาะวิถีปฏิบัติร่วมกันก็ไม่ได้เกิดขึ้น แม้ว่าในบางครอบครัวจะมีการขยายตัวเป็นครอบครัวใหญ่ก็ตาม ก็ยังมีความแตกต่างกันในเครือญาติที่มีลักษณะเฉพาะทั้งบุคคล และครอบครัว เช่น ใน 2 ครอบครัวที่เป็นญาติกัน หาก 1 ครอบครัวมีอาชีพรับจ้าง และมีลูกหลานหลุดจากระบบการศึกษาและมีอาชีพรับจ้างเช่นเดียวกับบิดามารดา ส่วนอีก 1 ครอบครัวมีอาชีพเกษตรกรรม และลูกหลานจบการศึกษาแล้วก็เข้าสู่ภาคการทํางานในตัวเมืองจังหวัดอื่นๆไป ในระหว่าง 2 ครอบครัวก็จะเกิดการเปรียบเทียบ ด้อยค่ากันด้วยท่าทีของคนรอบข้างผ่านการนินทากันในชุมชน ผลที่เกิด
กับชุมชนคือ 2 ครอบครัวที่เป็นเครือญาติก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ําใจ ไม่พอใจกับเรื่องราวที่ปะทะกับครอบครัวตน นํามาซึ่งความรุนแรงทางวาจา ไปสู่ความรุนแรงในท่าทีที่ปฏิบัติต่อกัน สิ่งที่คนในชุมชนปฏิบัติต่อกันคือ ต่างอยู่ไปตามวิถีของตนเองเพราะขาดความเคารพและยอมรับต่อกัน หากเรามองในฐานะความเป็นมนุษย์ที่ขาดความเกื้อกูล เห็นอกเห็นใจกัน ขาดความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน เมื่อความรู้สึก และอารมณ์ฝ่ายลบได้เกิดขึ้นในบุคคลและครอบครัวแล้ว สิ่งที่จะเป็นตัวพึ่งพาความอ่อนแอทางใจของคน ก็กลายมาเป็นสุรา ยาเสพติด และอบายมุข และนั่นก็คือเหตุหนึ่งที่นําคนในชุมชนหมู่บ้านสมนรินทร์ไปสู่ภาวะทางจิต ที่ไม่ปกติสุข เพราะปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน ปัญหาทะเลาะวิวาท ปัญหาลักขโมย และปัญหาอื่นๆที่ตามมา ได้นําไปสู่ภาวะวิตกกังวลใจ รู้สึกคับข้องใจ ความเครียด ความไม่สบายใจทั้งมวลในความทุกข์ทางใจที่เผชิญ และเมื่อคนในชุมชนสมนรินทร์ไม่มีภูมิคุ้มกันทางใจที่เข้มแข็งก็นําไปสู่ปัญหาบุคคล ปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมด้านอื่นๆที่ขยายใหญ่ขึ้น
จุดเริ่มต้น กลไกการดําเนินงาน
ดิฉันนางสาวอริสรารัศ เดชาอัครอนันท์ ในฐานะของหัวหน้าโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสุขภาพจิตประชาชนหมู่บ้านสมนรินทร์ ผู้ได้ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยในหมู่บ้านสมนรินทร์กับบิดามารดาเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ได้พบเจอสถานการณ์ปัญหาจากการสัมผัสและพูดคุยกับผู้คนในชุมชน ได้พบเห็นความรุนแรงของปัญหาในชุมชนที่ถูกผลกระทบจากปัญหายาเสพติด สุรา และปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่ทําให้ส่งผลต่อสุขภาพจิตคนในชุมชนหมู่บ้านสมนรินทร์ และลุกลามไปถึงสุขภาพทางกายที่ย่ําแย่ ปัญหาครอบครัวที่แตกแยกในบางกรณี ดิฉันได้มองเห็นว่าควรจะมีกลุ่มหรือคณะบุคคลที่มองเห็นปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งสําคัญและจําเป็นที่จะได้รับการเยียวยา จึงได้เขียนข้อเสนอโครงการขึ้น เมื่อได้มีการดําเนินโครงการนี้ สิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนการทํางานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต้องอาศัยภาคีเครือข่ายที่จะร่วมมือกันทํางานด้านสุขภาพจิตชุมชน โครงการนี้จึงได้ดําเนินการภายใต้
การสนับสนุนของ สสส. ได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตําบลลําพันชาด, ร.พ.วังสามหมอ, สกร.อําเภอวังสามหมอ, สํานักงานเกษตรอําเภอ และสถานีตํารวจอําเภอวังสามหมอเป็นอย่างดี
กระบวนการ วิธีการ เครื่องมือ
นอกจากการสร้างภาคีเข้ามาเป็นเครือข่ายที่จะส่งเสริมการทํางานแบบมีส่วนร่วมแล้ว การทํางานของคณะทํางานโครงการ จะใช้วิถีความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเป็นฐานในการมองประเด็นปัญหา และช่องว่างในการพัฒนา เพื่อที่จะสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสุขภาพจิต โดยมีแกนหลัก 2 ด้านคือ ปรับพฤติกรรม และ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม
ในด้านการปรับพฤติกรรม จะมุ่งเน้นสิ่งใหม่ที่ช่วยกะเทาะความคุ้นชินเดิมให้คนในชุมชนเกิดพลังใจเชิงบวกในการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เช่น กิจกรรมเกษตรสัญจร กิจกรรมเด็กและเยาวชนอาสา กิจกรรม Buddy ก่อการดี กิจกรรมงานบุญสร้างสุข เป็นต้น
การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เราใช้สถานที่วิสาหกิจชุมชนสมศิริ เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ออกแบบและตกแต่งเชิงสร้างสรรค์ด้วยวัตถุดิบที่ทํามาจากไม้ไผ่ใช้สําหรับทํากิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ของชุมชน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
สิ่งที่เราได้เผชิญจากการทํางานโครงการด้านสุขภาพจิต มีผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนหลายมิติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายของคณะทํางาน เรายังไม่ได้ก้าวสู่ผลลัพธ์ความสําเร็จ แต่เราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่ไม่เหมือนเดิมทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงคุณค่า