สานพลังภาคีสุขภาวะภาคเหนือ ร่วมขบวนการ “สร้างบ้านแปงเมือง” ตอกย้ำจุดยืนสร้างเสริมสุขภาพประชาชนเป็นแกนหลัก มุ่งเป้าอาหารปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง เตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนภาคเหนือ
ภาคีมีเรื่อง (เล่า)
สานพลังภาคีสุขภาวะภาคเหนือ ร่วมขบวนการ “สร้างบ้านแปงเมือง” ตอกย้ำจุดยืนสร้างเสริมสุขภาพประชาชนเป็นแกนหลัก มุ่งเป้าอาหารปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง เตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนภาคเหนือ
น้องบัดดี้พามาแอ่วภาคเหนือกันอีกแล้วจ้าว ปักหมุดเวทีสำคัญที่จะเปลี่ยนสุขภาพชาวเหนือให้ดีขึ้น กับเวทีสรุปบทเรียนระบบและกลไกสนับสนุนวิชาการภาคีเครือข่ายสุขภาวะพื้นที่ภาคเหนือ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่
27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
งานนี้ สสส. โดยสํานักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) ได้สานพลังภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือ มาโชว์ แชร์ เชื่อม การทำงานกันด้วยแนวคิด TOGETHER WE CAN ร่วมกันเราทำได้ ไปดูแบบเจาะลึก ทุกซอกทุกมุมกันเลยว่าบทสรุปของการสร้างสุขภาวะ ที่ดีในงานนี้มีอะไรที่น่าสนใจ ภาคีภาคเหนือเขาขับเคลื่อนงานกันอย่างไร ไปศึกษาพร้อม ๆ กันเลยจ้าว
…ทางลัดขยับงานสุขภาวะภาคเหนือให้พัฒนายิ่งขึ้น…
ไฮไลท์ของเวทีนี้ คือผลงานที่ภาคีสุขภาวะภาคเหนือทั้งตอนบนและตอนล่าง มาแชร์ประสบการณ์ เชื่อมการทำงานกัน จนได้บทสรุปออกมาในประเด็นปัญหาที่สามารถนำไปเชื่อมระหว่างพื้นที่ได้ คือ ความมั่นคงทางอาหาร การเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของเด็ก เยาวชน รวมถึงฝุ่น PM2.5 ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง และกลไกการทำงานที่จะขยับงานสุขภาวะให้พัฒนาได้ คือการทำงานเชื่อมประสานภาคี ข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่ว่า
“คนภาคเหนือต้องมีสุขภาวะที่ดี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”
…ต่อยอด ให้ต่อเนื่อง นำสิ่งที่ได้จากเวทีสรุปบทเรียนในครั้งนี้ ไปพัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่…
มาเริ่มกันที่ พี่หนุงหนิง วรารัตน์ หมวกยอด ผู้ประสานงานมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือตอนล่าง จ.พิจิตร เล่าให้ฟังว่า จากการเข้าร่วมเวทีสรุปบทเรียนระบบและกลไกสนับสนุนวิชาการภาคีเครือข่ายสุขภาวะพื้นที่ภาคเหนือในครั้งนี้ ถือเป็นงานที่รวมเหล่าแกนนำนักสร้างเสริมสุขภาพ (Core Team) จากทั่วทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือที่มาร่วมสรุปบทเรียน เป็นพื้นที่โชว์ แชร์ เชื่อม ตลอดจนเรียนรู้ระบบข้อมูลวิชาการ ที่ทำให้เห็นต้นทุนการทำงานของ สสส. ด้วยชุดความรู้วิชาการที่ สสส. เข้าไปหนุนเสริมการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานในพื้นที่หลายประเด็น ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร การเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ และฝุ่นควัน และมองว่าการทำงานของภาคีเครือข่ายที่เชื่อมประสานกัน ทำให้เห็นทางออกของปัญหา และนำไปสู่การแก้ไข โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนภาคเหนือ
“ต้นทางการมีสุขภาพดีของทุกคน คือ อาหารปลอดภัย ดังนั้นผู้สูงอายุสุขภาพจะดีได้ ต้องเริ่มจากการทานอาหารที่ปลอดภัย ในก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนงานสุขภาวะภาคเหนือตอนล่าง จะขยายเรื่องเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัยให้เข้มข้นขึ้นเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ขณะเดียวกันยังทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนในการลดปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ และจะนำความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนนี้ไปพัฒนางาน พร้อมทั้งเชื่อมประสานพี่น้องภาคีภาคเหนือ จับมือร่วมกันทำงานต่อยอดให้ต่อเนื่องต่อไป เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนในพื้นที่ ” พี่หนุงหนิงกล่าว
…จากภาคเหนือตอนล่างสู่ภาคเหนือตอนบน ตอกย้ำการทำงานสร้างเสริมสุขภาพแบบเชื่อมประสาน…
ไปฟังเสียงชาวเหนือตอนบนกันบ้าง ที่ถ่ายถอดเรื่องราวโดย ครูมุกดา อินต๊ะสาร ภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือตอนบน จ.พะเยา เล่าให้ฟังว่า การขับเคลื่อนงานเพื่อสุขภาวะชาวเหนือ เริ่มขยับจากจุดเล็ก ๆ ด้วยการปรึกษาหารือ จัดเวที ลงพื้นที่ ไปแชร์ ไปเชื่อมการทำงานกัน ทำงานเชิงประเด็นร่วมกับประชาชนคนพะเยา และพัฒนาเป็นเชิงขบวนการทั้งจังหวัด กลไกสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะในพื้นที่ คือการเชื่อมโยงภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาร่วมกัน โดยใช้ชื่อว่า “ขบวนการสร้างบ้านแปงเมือง” ขยายไปสู่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ การเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ยังรวมถึงแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 อีกด้วย
“หลังจากจบเวทีครั้งนี้ ขอบคุณทาง สภส. ที่ให้ความรู้ และแนวคิด หลักการทำงานสร้างเสริมสุขภาพนำไปปรับใช้ในพื้นที่ ประเด็นที่จะทำต่อเนื่องไปคือ สำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์คนไร้บ้าน ผู้สูงวัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อถอดบทเรียนนำไปสื่อสาร ผ่านเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม สรุปข้อมูลสุขภาพนำไปเชื่อมโยงกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และประสานหน่วยงานภาครัฐ ประชาสังคม เอกชน เน้นการทำงานแบบเชื่อมประสาน แบบข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น ในกลุ่มภาคีเครือข่ายภาคเหนือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อระดมแนวทางแก้ปัญหา นำไปสู่สุขภาพที่ดีของคนในพื้นที่” ครูมุกดา กล่าว
ภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือจึงเป็นเหมือนแรงกระเพื่อม ที่จะเปลี่ยนให้ชาวเหนือมีสุขภาพที่ดี ด้วยการหนุนเสริมจาก สํานักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กับภาคีเครือข่าย เสริมสมรรถนะการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ ผ่านการเชื่อมประสานภาคี สร้างฐานสัมพันธ์ที่ดีให้กลุ่มภาคีเครือข่าย ให้มีความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ร่วมกันสานพลังขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง