สสส. เปิดบ้านรับคณะ WHO ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ-แลกเปลี่ยนงานพัฒนาระบบและกลไกควบคุมผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับนานาชาติ

สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ หรือ สภส. มีบทบาทหลักในการพัฒนาระบบกลไกเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย สสส. ทั่วประเทศ เชื่อมประสานให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ภายใต้แผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ของ สำนักงานกองทุนและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

โดยอีกหนึ่งภารกิจงานของ สภส. คือ “งานวิเทศสัมพันธ์” เพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับ ยกระดับงาน สสส. และภาคีเครือข่ายในระดับสากล โดยการพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายยุทธศาสตร์ในระดับนานาชาติ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การเคลื่อนไหวร่วมผลักดันนโยบายที่ช่วยสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพสู่ระดับสากล

ในการพัฒนากลไกและระบบสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้งานวิเทศสัมพันธ์มีประสิทธิภาพ ผ่านการสร้างการสร้างการรับรู้ใน สสส. และภาคีเครือข่าย ในเวทีโลก เดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ สสส. ได้ร่วมกับสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ให้การต้อนรับ คณะผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานใหญ่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายแอลกอฮอล์ และผู้แทนจากประเทศเนปาล ศรีลังกา ติมอร์เลสเต ภูฏาน รวมจำนวน 60 คน เข้าศึกษาดูงานและหารือการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ สสส. และภาคีเครือข่าย

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกันของนานาชาติในการลดการบรโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่เป็นอันตราย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การบรรเทาผลกระทบที่มีผลต่อสุขภาพจากแอลกอฮอล์ผ่านมาตรการสำคัญด้านการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ การห้ามขายให้เด็กเยาวชน การห้ามขายในเวลาที่กำหนด การขึ้นภาษีสรรพสามิต การห้ามโฆษณา เป็นแนวทางที่มาจากองค์ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เสนอแนะโดยองค์การอนามัยโลกต่อประเทศสมาชิกทั่วโลก

“โดยบทเรียนส่วนหนึ่งจากการทำงานที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายภายใต้นวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อสุขภาพที่นำส่วนภาษีสรรพสามิตเพิ่มจากสุรามาดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพในประชากร รวมถึงการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผู้แทนจากหลายประเทศที่เข้าร่วมในครั้งนี้ ได้นำเสนอสถานการณ์และบริบทของประเทศตนเองมาแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจและวิธีการทำงานใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

ในขณะที่ .ดร.แซลลี คาสเวลล์ ผู้เชี่ยวชาญและประธานเครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Alliance) กล่าวชื่นชม สสส.ว่าเป็นหนึ่งในภาคีสำคัญ ที่ขับเคลื่อนงานด้านลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการและประสบการณ์เรื่องการควบคุมแอลกอฮอล์ที่สำคัญของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก เพราะแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสุขภาพนำมาสู่โรคไม่ติดต่อที่เป็นปัญหาวิกฤติของประชากรโลกที่สหประชาชาติได้ประกาศเป็นวาระโลกที่สำคัญ

ต้องยอมรับว่า ภารกิจวิเทศสัมพันธ์เชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดข้อมูลตั้งต้นสำคัญเพื่อการหารือจากสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สน.7) สสส. โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการ ได้นำเสนอต่อคณะดูงานในหัวข้อ “2 ทศวรรษการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและการขับเคลื่อนนโยบายยาสูบและแอลกอฮอล์” มีข้อมูลน่าสนใจ คือ ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานถึงอัตราการดื่มในระดับอันตราย “ลดลงจากร้อยละ 13.94 ในปี 2557 เหลือเพียงร้อยละ 10.05 ในปี 2564” ส่วนหนึ่งมาจากกลไกเชิงประเด็นร่วมกับเชิงพื้นที่ ที่สสส.ขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศมาตลอดสองทศวรรษ ตั้งแต่การปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเป็นสังคมที่ปลอดภัยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมสู่งานบุญประเพณีปลอดเหล้า จนทำให้เกิดกระแสรณรงค์อย่างต่อเนื่อง มีผู้ร่วมลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงงดเหล้าเข้าพรรษา อย่างน้อย 30% นอกจากนี้ สสส. ยังสนับสนุนเครือข่ายภาคสังคมร่วมเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย และเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมทำให้พฤติกรรมการดื่มหนักของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“สสส. ได้สานพลังภาคีเครือข่ายตามยุทธศาสตร์ไตรพลัง พลังนโยบายมีการสนับสนุนผ่านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้เกิดการดำเนินการพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551  ด้านพลังปัญญาได้สนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินงานของผ่านศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) และ ด้านพลังสังคมได้สนับสนุนการทำงานภาคประชาสังคมที่หลากหลาย เพื่อร่วมสานพลังเครือข่ายทุกภาคส่วนในการผลักดันนโยบายและการปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคม ผ่านการรณรงค์ในระดับพื้นที่ ส่งเสริมให้คนลด ละ เลิกการดื่มสุรา สร้างการรับรู้ให้กับสังคมถึงเจตนารมณ์ให้ตระหนักความสำคัญของกฎหมาย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ต้องขอขอบคุณคณะดูงานจาก WHO ที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ของ สสส. โดยมีประเด็นร่วมสำคัญอยู่ที่ “การสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพระดับโลก และต้องอาศัยรูปแบบความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายยุทธศาสตร์ในระดับนานาชาติ เพื่ยกระดับอสุขภาพที่ดีของประชากรโลกต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code