สสส. สานพลังภาคี 20 จังหวัดอีสาน สร้างสุขภาวะที่ดีครบทุกมิติให้คนอีสาน กับงานมหกรรมไทอีสานสานสุข

สสส. สานพลังภาคี 20 จังหวัดอีสาน สร้างสุขภาวะที่ดีครบทุกมิติให้คนอีสาน กับงานมหกรรมไทอีสานสานสุข

ภาคีมีเรื่อง(เล่า)

สสส. สานพลังภาคี 20 จังหวัดอีสาน สร้างสุขภาวะที่ดีครบทุกมิติให้คนอีสาน กับงานมหกรรมไทอีสานสานสุข : โฮมแฮงเบิ่งแญงสุขภาวะ เวทีแห่งการเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมสานพลัง สร้างสังคมแห่งสุขภาวะให้เกิดขึ้นในภาคอีสาน

โฮมแฮง ภาษาอีสาน ที่แปลว่า ร่วมแรง
เบิ่งแญงสุขภาวะ ที่หมายถึง ดูแลสุขภาวะ
รวมกันเป็น “ร่วมแรง ดูแลสุขภาวะ”
เป็นชื่องานที่ไม่ได้มีแค่ความงดงามของภาษาอีสานเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับทิศทางการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่ร่วมแรงกัน “สานพลัง” เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับคนอีสาน ตลอด 21 ปีทีผ่านมา

…มาโฮมแฮง ร่วมเบิ่งแญงสุขภาวะ ฉบับภาคีไทอีสาน…
สุขภาพคนอีสานดีขึ้นได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) ร่วมสานพลังภาคีเครือข่าย 20 จังหวัดภาคอีสาน รวมพลังขับเคลื่อนงานสุขภาวะ วางแผนทิศทางการทำงานให้ทันกับสถานการณ์สุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปรับตัวให้สอดรับอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนอีสานมีสุขภาพที่ดีครบทุกมิติอย่างยั่งยืน

“มหกรรมไทอีสานสานสุข : โฮมแฮงเบิ่งแญงสุขภาวะ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา งานนี้ยกขบวนภาคีเครือข่ายคนทำงานสุขภาวะภาคอีสาน มัดรวมผลงานเด่นการสร้างเสริมสุขภาพแต่ละพื้นที่ไว้ด้วยกัน มาโชว์ มาแชร์ มาเชื่อมกัน ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมืองเสียงแคนแดนดอกคูณ

…ความท้าท้าย บทสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะคนอีสาน…
สถานการณ์สุขภาพของคนภาคอีสานถูกบอกเล่าโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. ว่า ภาคอีสานมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ครองแชมป์อันดับ 1 ด้วยโรคเบาหวานที่คร่าชีวิตคนมหาสารคาม มากถึง 59.53 ต่อแสนประชากร ถัดมาคือโรคไตวายเรื้อรัง คนจ.เลยเสียชีวิตมากถึง 34.86
ต่อแสนประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกโรคที่มาจากการกินสุก ๆ ดิบ ๆ ภัยเงียบแสนอันตรายคือโรคพยาธิใบไม้ตับ มะเร็งท่อน้ำดี ทำให้ชาวจังหวัดสกลนคร ต้องเสียชีวิตมากถึง 47.08 ต่อแสนประชากร เพราะกว่าจะรู้ว่าเป็นโรคร้ายก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายของมะเร็งเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม สังคมภาคอีสาน มีเพียงผู้สูงอายุและเด็กอาศัยตามลำพัง แต่ละวันต้องออกไปทำไร่
ทำนา เด็กก็อยู่กับโทรศัพท์ เล่นโซเชียลมีเดียมากขึ้น ความสนุกแฝงมาด้วยภัยเงียบ อย่างบุหรี่ไฟฟ้า พนันและแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น ผลกระทบที่ตามมาส่งผลเสียต่อเด็กกำลังเติบโตทั้งสุขภาพกายและใจ ขณะเดียวกัน การจัดการขยะยังเป็นปัญหาใหญ่ ภาคอีสานมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องมากกว่า 700 แห่ง นับเป็นความท้าทาย
บทสำคัญ บทใหญ่ ที่ภาคีภาคอีสานต้องโฮมแฮงกันขับเคลื่อนต่อไปในระยะยาว เพื่อให้คนอีสานมีสุขภาพดี

…สร้างภาคีให้เข้มแข็ง เป็น Team Work ที่มีศักยภาพ เดินหน้าสร้างสุขให้คนไทย…
ปัญหาสุขภาพชาวอีสานไม่สามารถแก้ไขในระยะเวลาอันสั้นได้ จำเป็นต้องทำต่อเนื่องในระยะยาวจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สสส. จึงเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่คอยอำนวยให้เหล่าฟันเฟือนหลักทำงานสร้างเสริมสุขภาพต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการหนุนเสริมและพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็งมากขึ้น ภายใต้แผนงานของสํานักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) เพื่อสนับสนุนความรู้ เสริมทักษะและสมรรถนะหลักที่จําเป็น

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ Thai health Academy ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานให้เกิดความคล่องตัวแก่ผู้ที่ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงภาคีเครือข่ายทุกจังหวัด
มีทั้งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคนโยบาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทุกคน
ที่มองเส้นชัยความสำเร็จเดียวกันที่ว่า “คนอีสานต้องมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน”

…“Together We Can รวมกัน เราทำได้” ถอดรหัสกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ…
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ ได้เล่าถึงทิศทางการทำงานในทศวรรษที่ 3 ว่า “ทศวรรษที่ 3 สสส. ยังคงทำงานในเชิงพื้นที่อย่างเข้มข้นร่วมกับเครือข่ายภาคอีสาน
และทั่วประเทศ ผ่านกลยุทธ์ “Together We Can รวมกัน เราทำได้” ประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ Together (รวมกัน) เปิดโอกาสให้ภาคีมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ออกแบบทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะภาคอีสาน ถัดมา We (เรา) สสส. ต้องการหุ้นส่วนมาสร้างเสริมสุขภาพคนไทยให้ดียิ่งขึ้น นั่นคือภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รพ.สต. เป็นต้น เข้ามาร่วมทำงานเป็นทีมที่มองเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือแนวทางในการแก้ปัญหาสุขภาพ
ตลอดจนผลักดันนโยบายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน และสุดท้าย Can (ทำได้) พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายภาคอีสาน เพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน ด้วยการใช้ฐานข้อมูลสุขภาพดิจิทัลที่เข้าถึงภาคีทั่วประเทศ

…ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 สร้างสุขสู่สังคมไทย สร้างภาคีเครือข่ายที่มั่นคง…
ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายภาคอีสานขับเคลื่อนโครงการกว่า 290 โครงการ และมีภาคีขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์กว่า 50 โครงการ เช่น ประเด็นอาหาร ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นปัจจัยเสี่ยง (ยาสูบ แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ)
ในทศวรรษที่ 3 สสส. จะมุ่งขยายภาคีสร้างเสริมสุขภาวะให้เพิ่มขึ้น กระจายอยู่ทุกแห่งทั่วประเทศ นับจากนี้ทุกพื้นที่
มีแต่ “ภาคีเครือข่ายสุขภาวะ”
เป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย สานพลัง
สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข สู่สังคมไทย ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน ร่วมสร้าง ร่วมดูแล พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังคงยึดมั่น เดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code