สสส.สานพลังภาคี จ.เชียงราย จัด โชว์ แชร์ เชื่อม รวมพลังเครือข่ายกลุ่มคนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย
สสส.สานพลังภาคี จ.เชียงราย จัด โชว์ แชร์ เชื่อม รวมพลังเครือข่ายกลุ่มคนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย
เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา สสส. สานพลังภาคี จ.เชียงราย จัด โชว์ แชร์ เชื่อม ตอน “ฮ่วมใจ๋ ไตรพลัง แป๋งอาหารปลอดภัย @เจียงฮาย” วันที่ 28 – 29 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมเฮอริเทจ อ.เมือง จ.เชียงราย รวมพลังเครือข่ายกลุ่มคนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างภาคีเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมพลัง พร้อมทั้งระดมความคิดเห็นในการออกแบบแนวทางเชื่อมร้อยการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนอาหารตลอดห่วงโซ่จังหวัดเชียงราย
ดร.ปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงราย กล่าวว่า จ.เชียงราย มีความตั้งใจในการขับเคลื่อนงานระบบอาหาร รวมถึงสานพลังกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวเชียงรายมีสุขภาพที่ดีในทุกมิติ การจัดงาน โชว์ แชร์ เชื่อม ในวันนี้ ได้ทำความรู้จักภาคีเครือข่ายของ สสส. ในทุกภาคส่วน เพื่อจะสานงานต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ใน จ.เชียงราย เราคุยเรื่องความมั่นคงทางอาหารมาถึง 7 ปี และอยากให้เกิดขึ้นในทุกๆ มิติของการทำงานตลอดห่วงโซ่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน แต่การเกิดเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม ครั้งนี้ทำให้เราได้เชื่อมประสาน และพร้อมจะขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน นอกจากเราจะมีแผนอาหารปลอดภัยในระดับจังหวัดที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้วนั้น ก็จะมีแผนสำหรับภาคีเหนือตอนบนอีกด้วย เพื่อให้ทั้งห่วงโซ่ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการร้านค้า และประชาชน เกิดความเชื่อมั่นและขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน”
ด้าน นางสาวโศภิษฐ์ ขันแข็ง ผู้ช่วยอำนวยการ สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวถึง ความเป็นมา วัตถุประสงค์ และความสำคัญของการ “บูรณาการความร่วมมือและขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ ในพื้นที่ปฏิบัติการระดับจังหวัด” ว่า
สสส. มีวิสัยทัศน์ คือ “ทุกคนบนแผ่นดินไทย มีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี” และพันธกิจ คือ “จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง บุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี” โดย มียุทธศาสตร์การทำงานที่ตั้งอยู่บนฐานของการบูรณาการที่เรียกว่า “ไตรพลัง” ได้แก่ “พลังปัญญา พลังนโยบาย และพลังสังคม” เพราะเราเชื่อว่าถ้าทุกภาคส่วนร่วมกันสานพลังและมุ่งเป้าแบบเดียวกันก็จะสามารถสร้างสังคมสุขภาวะได้สำเร็จ
เป้าหมายและทิศทางการทำงาน สสส. ในระยะ 10 ปี มีเป้าหมายสูงสุดของการทำงานสุขภาวะ คือ อยากให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ 7 +1 ประกอบด้วย ยาสูบ สุราและสิ่งเสพติด อาหาร กิจกรรมทางกาย ความปลอดภัยทางถนน สุขภาพจิต มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่ โดยคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ให้คนไทยเข้าถึงองค์ความรู้และการดูและสุขภาพสู่การมีสุขภาพที่ดี ซึ่งดำเนินงานผ่าน 15 แผนงาน
สำหรับ สภส. เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทำหน้าที่พัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนในการสานพลังภาคีเครือข่ายทุกสำนักให้มารู้จักกัน หนุนเสริมศักยภาพและยกระดับการทำงาน สานพลังภาคีเครือข่ายและเสริมศักยภาพภาคีให้พร้อมที่จะทำงานได้ ภายใต้แนวคิด Together We Can หรือ ร่วมกันเราทำได้ “ร่วมกัน” คือ เปิดพื้นที่และเวทีให้ภาคีเครือข่ายแต่ละจังหวัดและทุกประเด็นที่ทำงานสุขภาวะเกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงาน “เรา” คือ ภาคี สสส. และ สสส. ที่มาทำงานร่วมกันเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี สนับสนุนกระบวนการทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น “ทำได้” คือ สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายมีขีดความสามารถ ความรู้ ที่สามารถยกระดับงานตัวเองอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานภาคีสัมพันธ์ “สานงานเสริมพลังภาคีเครือข่าย” มี 4 ด้าน คือ 1.พัฒนากลไกเชื่อมประสานภาคีเครือข่าย 2.เปิดพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3.พัฒนาระบบสนับสนุน และ 4.พัฒนาระบบกกไก/สื่อสาร โดย สภส.มีกลไกภูมิภาค 4 ภาค 5 กลไก โดยทำงานร่วมกับกลไกภูมิภาค สานพลังภาคีเครือข่ายให้รู้จักกันในพื้นที่ พัฒนาประเด็นสุขภาพในพื้นที่ เสริมสมรรถนะภาคีเครือข่ายให้รองรับเกี่ยวกับโลกยุคใหม่ ฝึกอบรมการบริหารจัดการโครงการให้เข้าใจระบบสนับสนุนต่างๆ รวมถึงมีเวทีเปิดพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมพลังภาคีเครือข่าย เห็นงาน เห็นคน
“เวทีที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ พื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง สภส.และแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ อยู่ภายใต้สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. (สำนัก5) มีเป้าหมาย คือ “เพิ่มสัดส่วนการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล” เราวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ รวมถึงกลไกการทำงานร่วมกัน ซึ่งจังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งใน 9 จังหวัดนำร่องที่มีต้นทุนการขับเคลื่อนงานด้านอาหารที่มีความพร้อมของทุนต่างๆ ในพื้นที่ สภส. จึงเปิดพื้นที่กลางและนำกลไกภาคเข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนงาน”
ก่อนหน้านี้ ที่ จ.สงขลา – จ.พัทลุง ก็ได้จัดเวทีบูรณาการความร่วมมือและขับเคลื่อนระบบอาหาร เพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในพื้นที่ปฏิบัติการระดับจังหวัด นำร่องสงขลาและพัทลุง เมื่อวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2567 เกิดแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด และเป้าหมายของพื้นที่ เกิดพื้นที่นำร่องจนนำมาสู่บทเรียนสำคัญที่จะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้จัดเวที POLICY FORUM เพื่อสื่อสารข้อเสนอเชิงนโยบายด้านระบบอาหาร (ความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยและโภชนาการ) 3 ข้อ คือ 1. การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อส่งเสริมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะและระบบอาหารที่ยั่งยืนในพื้นที่ชายแดนใต้ 2.ข้อเสนอนโยบายอาหารปลอดภัยในจังหวัดปัตตานี 3.การแก้ปัญหาภาวะโภชนาการในเด็กเล็กและวัยเรียนในพื้นที่ และสำหรับ จ.เชียงราย ก็จะนำไปสู่แผนปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุลต่อไป
ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวถึง กรอบแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ “แผนการขับเคลื่อนระบบอาหาร เพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ว่า
สำนัก 5 ได้ดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การจัดการอาหารของประเทศไทย (พ.ศ.2560 – 2579) ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ คือ ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายของกองทุน ในระยะ 10 ปี ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส. คือ ระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย “เพิ่มสัดส่วนการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล” บนพื้นฐานของหลักคิด 1. เพิ่มประชากรที่มีภาวะสุขภาพและโภชนาการสมดุล ลดพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค NCDs 2. เสริมสร้างคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร 3. เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ทุกคนในทุกเวลาสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ
“ระบบอาหารที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน เชื่อมโยงไปถึงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ภายใต้กรอบแนวคิด ห่วงโซ่อาหารคือ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในห่วงโซ่ให้ได้ เพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ประชากรมีภาวะสุขภาพและโภชนาการสมดุล”
สำนัก 5 ทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 F ได้แก่ Food Environment (การจัดปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ) Food Economy (ส่งเสริมเศรษฐกิจอาหารชุมชน) Food Literacy (สร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ) Food Policy Advocacy (ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหาร) โดยมีกลไกสนับสนุนการบูรณาการ ระบบการกำกับ ติดตาม ประเมินผล การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ การขยายผลพัฒนาความร่วมมือ วิชาการและการจัดการความรู้ เพื่อให้ประชาชนมีพฤติกรรมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ภายใต้ระบบอาหารที่ยั่งยืน
โดยมีแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และจุดเน้น ปี 2568 ประกอบด้วย การบูรณาการจัดการอาหารชุมชน เปิดพื้นที่ออกแบบความร่วมมือขับเคลื่อนสภานโยบายอาหาร โดยกำหนด 9 จังหวัดยุทธศาสตร์เป็นพื้นที่ต้นแบบระบบอาหารตลอดห่วงโซ่ คือ เชียงราย อุตรดิตถ์ ยโสธร อุบลราชธานี นนทบุรี กรุงเทพ นครปฐม พัทลุง สงขลา ซึ่ง จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีต้นทุนการทำงานขับเคลื่อนระบบอาหารมากกว่า 7 ปี พร้อมด้วยเครือข่ายนับตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ
“การบูรณาการขับเคลื่อนงานด้านอาหารร่วมกับ สภส. เรามีเครื่องมือและกลไกสนับสนุนการทำงาน เชื่อมโยงระบบอาหารตลอดห่วงโซ่ เช่น Food System Mapping ที่แสดงต้นทุนพื้นที่ เครือข่าย นโยบาย และชุดความรู้ ของภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนงานด้านอาหารของ สสส. ใน จ.เชียงรายในปี 2563-2565 พบ กิจกรรมที่ขับเคลื่อนงานด้านอาหารปลอดภัยถึง 79 กิจกรรม ข้อมูลชุดนี้ ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรม โชว์ แชร์ เชื่อม วันนี้จะได้รับข้อมูลของคนทำงาน เพื่อเชื่อมร้อยการทำงานและสานพลังร่วมกันของกลุ่มเครือข่ายตลอดห่วงโซ่
นอกจากนี้ สสส.สนับสนุนชุดคู่มือ วิทยากรและแหล่งเรียนรู้ เพื่อขยายผลตลาดเขียวต้นแบบ โดย สสส. มีบทบาทในการเชื่อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาชุดความรู้ และระบบสนับสนุนการทำงาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือ โดยใช้ฐานข้อมูลร่วมกันในการขับเคลื่อนงานด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ ทั้งการส่งเสริมการผลิตอาหารที่ปลอดภัย/อินทรีย์ ระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักและผลไม้ รวมถึงการรณรงค์สื่อสารสาธารณะ ลดหวาน ลดเค็ม ลดโรค สานพลังภาคีส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อให้คนไทยทุกช่วงวัยมีสุขภาพดี ลดเสี่ยงจากโรค NCDs และเชื่อว่าทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากบทบาทและศักยภาพของตนเองจากจุดเล็กๆ สานต่อไปสู่การขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน
“ความงดงามที่เกิดขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขความไม่สงบ ได้ประกาศนโยบายด้านระบบอาหาร 3 ด้าน คือความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยและโภชนาการ โดยหน่วยงานที่นำร่องเรื่องนี้คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัตตานี นี่คือมิติใหม่ ที่หน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จุดประกาย ความสำเร็จดังกล่าวถูกขยายไปทั่วภาคใต้ และเชื่อว่าพื้นที่อื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ขณะที่ชุมชนคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ได้สร้างต้นแบบอาหารสุขภาวะ ฟื้นวิถีเกษตรอินทรีย์ พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ผักปลอดสาร ร้านอาหารชุมชนครัวใบโหนด ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคทำให้ประชาชนในพื้นที่หันมาให้ความสำคัญสร้างความมั่นคงอาหารท้องถิ่น โดยผ่านกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ตั้งแต่ต้นทางการผลิตคือเกษตรกร ถึงอาหารบนโต๊ะที่นำภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านมารวมไว้มานานนับ 10 ปี จนกลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว”
โชว์ แชร์ เชื่อม ตอน “ฮ่วมใจ๋ ไตรพลัง แป๋งอาหารปลอดภัย @เจียงฮาย” เราจะแบ่งปันกัน เชื่อมโยงกันในการขับเคลื่อนงานระบบอาหาร เพื่อให้คนเชียงรายได้กินอาหารสุขภาพดีและปลอดภัย” ดร.สง่า กล่าว
ติดตามเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม เสริมพลังภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะได้ที่ https://www.facebook.com/friendspakee