สรุปประเด็นประเทศสมาชิก INHPF2024 เสนอกลยุทธ์ขับเคลื่อนสุขภาพประชาชน เน้นลดปัญหาเด็กอ้วน ภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ

สวัสดีเพื่อนภาคีครับบบบบ….
น้องบัดดี้นำประเด็นที่น่าสนใจมาฝากทุกท่านอีกเช่นเคยครับ อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจมากๆ
ในการประชุม INHPF2024 ณ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
คือ ปัญหาเด็กอ้วน ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ
.
รู้หรือไม่ครับว่า…เกือบหนึ่งในห้าของเด็กทั่วโลกมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
ซึ่งรวมถึงเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบ 39 ล้านคน และเด็กอายุ 5-19 ปี 340 ล้านคนครับ
 .
ในหัวข้อนี้มีหลายประเทศที่ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพของประชาชน
โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
.
.
น้องบัดดี้สรุปให้
1.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ในประเทศไทย พบว่า ปี 2566 คนไทยกว่า 48.35% มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
มีภาวะอ้วนร้อยละ 8.98 อายุ 5-18 ปี อัตราอ้วนอยู่ที่ร้อยละ 13.72  เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว
สสส. จึงกำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย
• ส่งเสริมการบริโภคอาหารสุขภาพที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช
และลดบริโภคอาหารที่มีรสจัดทั้งหวาน มัน เค็ม
• ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การดูแลสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์
เพื่อดูแลสุขภาพของแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว
• อาหารและกิจกรรมทางกายในวัยเด็กปฐมวัย  สุขภาพ โภชนาการ
• กิจกรรมทางกายสำหรับเด็กวัยเรียน
• การจัดการน้ำหนักของเด็กที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน
.
สสส.สานพลังร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น เด็กไทยแก้มใส ขับเคลื่อนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ไตรพลัง คือ
พลังนโยบาย มุ่งเน้นการผลักดันนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
เช่น การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในโรงเรียน การเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล การปรับปรุงโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน
และการมีแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับชาติ
.
พลังวิชาการ สร้างฐานข้อมูลและการวิจัยเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนและดำเนินงาน เช่น การสำรวจพฤติกรรมการออกกำลังกายของประชาชน
การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรค และการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน
.
พลังทางสังคม สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น การรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคผักผลไม้ให้มากขึ้น
การส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการสร้างเครือข่ายภาคีเครือข่ายเพื่อทำงานร่วมกัน
นโยบายขับเคลื่อนด้านอาหาร ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันผลักดัน
เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น
• การจัดเก็บภาษีน้ำหวาน (SSB Tax) เก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
เพื่อลดการบริโภคและส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันไปเลือกเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลง  • ห้ามใช้ไขมันทรานส์ในอาหารทุกชนิด
• ฉลากโภชนาการ เป็นการบังคับให้ผู้ผลิตแสดงฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร
เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง
• โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม เป็นนโยบายที่ส่งเสริมให้โรงเรียนงดจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพื่อส่งเสริมสุขภาพของนักเรียน
• กลยุทธ์ลดโซเดียม เพื่อลดปริมาณโซเดียมในอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
• ควบคุมการตลาดอาหารสำหรับเด็ก โดยควบคุมการโฆษณาและการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพสำหรับเด็ก
• สนับสนุนการให้นมแม่ ซึ่งเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
ด้านกลยุทธ์ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ในประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน
สสส.สานพลังร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง เช่น
• เกิดแผนงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับชาติ (National PA Strategy)
เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระยะยาว
• ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO)
และสมาคมนานาชาติเพื่อการกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (ISPAH) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้
• ส่งเสริมให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับออกกำลังกาย และมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชนให้เอื้อต่อการออกกำลังกาย
• นำเทคโนโลยีมาใช้ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับติดตามกิจกรรมทางกาย
สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของกิจกรรมทางกายผ่านสื่อต่างๆ
ด้านแคมเปญโฆษณาที่สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ได้แก่
• กินอย่างไรให้ติดหวานน้อยลง โดยเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน
เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทยให้หันมาบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลน้อยลง
ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
• ลดพุง ลดโรค เพื่อตระหนักให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาโรคอ้วนลงพุง
• แคมเปญ “บริโภคผักผลไม้วันละ 400 กรัม” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยทุกคนหันมาบริโภคผักผลไม้ให้มากขึ้น
รวมถึงแคมเปญโฆษณาที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในเด็กไทย
• สามเหลี่ยมสมดุล โดยส่งเสริมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการนอนหลับ
• ส่งเสริมให้เด็กเล่นออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน
• ส่งเสริมการกินอาหารให้ครบสัดส่วน
2.Singapore Health Promotion Board ประเทศสิงคโปร์
สิงคโปร์พบ ปัญหาเด็กอ้วนเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และเด็กที่อ้วนตั้งแต่อายุ 7 ขวบ มีแนวโน้มที่จะยังคงมีน้ำหนักเกินเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ถึง 70% ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กอ้วน เช่น การขาดการออกกำลังกาย การใช้เวลาหน้าจอนานเกินไป การรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง และการดื่มเครื่องดื่มที่ทำลายสุขภาพ
สิงคโปร์ให้ความสำคัญของการขับเคลื่อนงานร่วมกันในหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กมีสุขภาพดีไปตลอดชีวิต และส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี
เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดลดปัญหาโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น
• กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการบริโภคผัก ผลไม้ ธัญพืช และโปรตีนจากแหล่งที่ดี
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ
• ควบคุมการใช้หน้าจอ มีการจัดตารางเวลาในการใช้หน้าจออย่างเหมาะสม
• นอนหลับให้เพียงพอ ช่วยให้ร่างกายได้ซ่อมแซมและฟื้นฟูทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการดำเนินการลดปัญหาเด็กอ้วนของสิงคโปร์ มุ่งไปที่การปลูกฝังพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีตั้งแต่เด็ก
ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย การใช้เวลาหน้าจอ และการนอนหลับของเด็ก
เพื่อวางแผนและดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างตรงจุด และสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เด็กมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี

3.Tonga Health Promotion Foundation ประเทศตองกา

ประเทศตองกา มองว่า ปัญหาเด็กอ้วน เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อเด็กจำนวนมากทั่วโลก
จึงได้มีการวางนโยบายในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาเด็กอ้วนประกอบด้วย
• นโยบายอาหารในโรงเรียน เน้นการปรับปรุงอาหารกลางวันในโรงเรียนให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น
เช่น เพิ่มปริมาณผัก ผลไม้ ลดปริมาณอาหารแปรรูปและอาหารที่มีน้ำตาลสูง
• นโยบายด้านสุขภาพ เน้นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน เช่น
การส่งเสริมการออกกำลังกาย การให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ
• นโยบายภาษี โดยปรับขึ้นภาษีสินค้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาหารขยะ
เพื่อลดการบริโภคและส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น
โครงการแก้ไขปัญหาเด็กอ้วน เช่น
• โครงการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนด
และจะได้รับรางวัล เพื่อเป็นการกระตุ้นและให้กำลังใจ
• โครงการ Mai e Nima เน้นการส่งเสริมด้านโภชนาการ 4 ด้าน เพื่อให้เยาวชนและครอบครัวมีสุขภาพดี ได้แก่
การส่งเสริมการกินอาหารเช้าที่ดีต่อสุขภาพ การปรับปรุงอาหารกลางวันในโรงเรียน การเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้
การดื่มน้ำให้เพียงพอ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอีกด้วย
4. Health and Wellbeing Queensland ประเทศออสเตรเลีย
ปัญหาโรคอ้วนในประชากรชาวออสเตรเลีย พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ขณะที่  มี 1 ใน 4 ของเด็กในรัฐควีนส์แลนด์
มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน  ทั้งนี้ปัญหาโรคอ้วนทำให้รัฐควีนส์แลนด์เสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 556 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ทำให้กลายเป็นภาระต่อประชาชนชาวออสเตรเลีย ที่ต้องชดเชยค่าใช้จ่ายจากโรคอ้วนด้วยการเสียภาษีเพิ่มคนละ 678 ดอลลาร์ต่อปี
สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาโรคอ้วนในรัฐควีนส์แลนด์ และผลกระทบที่ตามมาทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ
ออสเตรเลียได้ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในชุมชน
โดยมุ่งเน้นให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยและกิจกรรมทางกายที่ส่งเสริมสุขภาพ เช่น
• โครงการ A Better Choice มีเป้าหมายหลักคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
เมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน
• โครงการ Pick of the Crop ส่งเสริมการกินผักผลไม้ในโรงเรียนควีนส์แลนด์ เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับเกษตรกร
เพื่อส่งเสริมการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น และเชื่อมโยงครอบครัวกับชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพของเด็ก
• โครงการ Pod Squad โปรแกรมออนไลน์ที่ออกแบบครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ โภชนาการ กิจกรรมทางกาย และสุขภาพโดยรวม
เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับเด็กและครอบครัว
• แพลตฟอร์ม Clinicians Hub ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกัน ดูแล และส่งต่อผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
Shares:
QR Code :
QR Code