“สมรสเท่าเทียม” สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวโดยไม่จำกัดเพศ กฎหมายที่ทำให้คนทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ความรักเท่าเทียม
ส่งท้ายเดือน #PrideMonth เดือนแห่งการร่วมรณรงค์ให้เกิดความเท่าเทียมของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) เห็นได้จากการตื่นตัวของสังคมที่ออกมาร่วมกันเปลี่ยนโปรไฟล์เป็นรูปธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหลากหลายทางเพศกันอย่างมากมาย เพื่อสื่อสารถึงสังคมให้เกิดความเข้าใจ เปิดใจ ยอมรับอย่างแท้จริงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รับสิทธิที่พึงได้รับอย่างเท่าเทียม และเสมอภาคกับทุกคนในสังคม
สนับสนุนให้ผู้คนยอมรับความหลากหลาย และขอให้ทุกคนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมต่าง ๆ ต่อไป
…..
….
..
.
“สมรสเท่าเทียม” สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวโดยไม่จำกัดเพศ กฎหมายที่ทำให้คนทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ความรักเท่าเทียม
ประเทศไทยถือได้ว่าเป็น Paradise of LGBTQIA+ ดินแดนที่เป็นดั่งสวรรค์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สังคมไทยเปิดรับ มีความเข้าใจ ผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และที่ทำให้ผู้คนในสังคมให้ความสนใจและจับตามอง ตระหนักถึงคุณค่าของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นนั้น เป็นเรื่องไหนไปไม่ได้ คือ การผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งหากในที่สุดแล้วถูกนำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ นับเป็นก้าวสำคัญและเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของกฎหมายไทยครั้งใหญ่ สู่การส่งเสริมความเท่าเทียมและเสมอภาคให้แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) และทุกเพศสภาพในสังคม
…สมรสเท่าเทียม สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัว โดยไม่จำกัดเพศ
ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถูกเสนอขึ้นแก้ไขถ้อยคำระบุรายละเอียดให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น แก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ในการสมรส การจดทะเบียนสมรส และใช้ชีวิตคู่เป็นคู่สมรส ไม่ว่าบุคคลเพศสภาพใดเมื่อสมรสกันแล้ว ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายรองรับ โดยไม่จำกัดว่าคู่สมรสนั้นต้องเป็นชายและหญิงเท่านั้น
หาก ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ “สมรสเท่าเทียม” จะมีประโยชน์ในการมอบสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่ทุกเพศ ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็สามารถสมรส จดทะเบียนสมรส มีสิทธิ์ในการจัดการทรัพย์สิน การรับมรดก การรับรองบุตรบุญธรรม และการเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้
ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับสิทธิ ประโยชน์อะไรบ้างจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ข้อมูลจาก Work Point Today)
มีสิทธิ์ในการจัดการทรัพย์สินและทำธุรกรรมร่วมกันได้ เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ การซื้อยานพาหนะ ทำธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ ร่วมกันได้
คู่ชีวิตสามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
ได้รับสิทธิ์การฟ้องหย่าเหมือนกับคู่สมรส และสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อศาลได้
กรณีที่คู่รักเสียชีวิต สามารถรับมรดกตามกฎหมายได้
…ยอมรับอย่างเข้าใจ เป็นตัวเองได้ไม่แตกต่าง ทุกเพศสภาพมีความเท่าเทียมกัน…
“…โลกจะสวยงามขึ้น เพียงเรามองผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเข้าใจ ไร้ซึ่งเงื่อนไข”
คำกล่าวสุดประทับใจจาก ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการนักศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเรื่องสมรสเท่าเทียมว่า “ถ้าเทียบจากเมื่อก่อนสังคมให้การยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เห็นจากการที่วงการบันเทิงมีหนังที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายมากขึ้น การแอนตี้ลดน้อยลง ขณะนี้กฎหมายที่เอื้อต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีเพียง พ.ร.บ. เดียวคือ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
หากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เราหวังว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น การทำร้ายและการถูกเลือกปฏิบัติจะลดลง และมองว่าจะเปลี่ยนไปแน่นอน คือ 1. กฎหมายจะคุ้มครองกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น 2. เรื่องเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป การใช้ชีวิต การให้มรดก ทำธุรกรรมร่วมกันได้ สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ การรับรองบุตรบุญธรรมก็จะง่ายขึ้น 3. เรื่องสิทธิแห่งสวัสดิการ เมื่อทุกเพศสามารถที่จะแต่งงานได้ ก็สามารถที่จะใช้สิทธิประกันสังคม สิทธิประกันชีวิต สิทธิข้าราชการของคู่ชีวิตได้ เมื่อได้รับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยไม่รู้สึกถูกลดทอนคุณค่า”
อาจารย์รณภูมิกล่าวทิ้งท้ายว่า “…อยากให้ทุกคนเปิดใจมองกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ลองใช้ชีวิตในสังคมไปกับพวกเขา อยากให้มองเขาในฐานะคนคนหนึ่ง โดยไม่เอาเรื่องเพศมาขวางกั้น แล้วเราจะเข้าใจเขามากขึ้น และเมื่อเราเข้าใจพวกเขามากขึ้น ในใจเราจะไม่มีคำถามสงสัยในตัวพวกเขาเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย”
…“สมรสเท่าเทียม” กฎหมายที่ทำให้คนเท่ากัน ความรักเท่าเทียม ไม่จำกัดเพศ
คุณโน้ต รตี แต้สมบัติ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อมนุษยชน ให้มุมมองว่า
“…แน่นอนว่า ถ้าเมืองไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเป็นจุดเปลี่ยนความคิดของสังคมให้เกิดการยอมรับในความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น จะคลายความกังวลของครอบครัว บุคคลในสังคมที่เกี่ยวข้องของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะมีกฎหมายรองรับ และทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดความภาคภูมิใจ
รู้สึกรักตัวเองมากยิ่งขึ้น
เขาถูกมองเห็นในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของรัฐ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมแบบหญิงและชายทั่วไปในสังคม ความรักของเขาได้รับการยืนยัน ได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบไหน จะชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง จะเป็นความรักที่มีคุณค่า มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันทุกเพศ อันนี้ถือเป็นประโยชน์ที่จะได้รับ สำคัญที่สุด การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงเป็นตราประทับหนึ่ง เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติและระดับสากล
และอยากฝากถึงทุกคนว่า ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน อยากให้เปิดใจ โอบรับ ให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่อยากให้เอาเรื่องเพศสภาพมาเป็นตัวตัดสินในการให้คุณค่า สร้างการยอมรับ เมื่อใดที่เราเข้าใจความมีอยู่ของความแตกต่างหลากหลายทางเพศของมนุษย์ ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา จะนำไปสู่การทลายอคติในด้านอื่น ๆ ที่คนเอามาตัดสินซึ่งกันและกัน จะทำให้มองเห็นคุณค่าของกันและกันมากขึ้น ” คุณโน้ตกล่าว
…โลกจะสวยงามขึ้น เพียงเราเปิดใจยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเข้าใจ ไร้ซึ่งเงื่อนไข
“เราทุกคนเท่าเทียมกัน” การเห็นคุณค่า เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน เป็นสิ่งที่พึ่งได้รับอย่างเสมอภาค โดยไม่จำกัดเพศสภาพ โลกจะสวยงามขึ้น เพียงเรามองผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเข้าใจ ไร้ซึ่งเงื่อนไข
สสส. สนับสนุนและส่งเสริมความเท่าเทียมด้านสุขภาวะในทุกมิติของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนอย่างเท่าเทียม โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผลักดันให้พวกเขามีสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ดี ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ได้รับสิทธิในระบบบริการสุขภาพของรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับความเท่าเทียมในทุกๆ ด้าน สร้างความตระหนักรู้ให้คนในสังคมเห็นถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และร่วมกันเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย โอบรับด้วยความเข้าใจ ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเฉกเช่นคนทั่วไปในสังคม