สภส. สานพลังภาคีสุขภาวะภาคอีสาน เดินหน้าเต็มกำลังกับภารกิจเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัยให้ “อยู่ดีมีแฮง” เน้นทำงานแบบเครือข่าย ข้ามพื้น-ข้ามประเด็น สร้างการมีส่วนร่วม ผ่านเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม มุ่งสู่เป้าหมาย ผู้สูงอายุภาคอีสานมีสุขภาวะที่ดีและมีความสุข

ซีรี่ส์ 4 ภาค (ภาคีภาคอีสาน)

#ซีรี่ส์ 4 ภาค (ภาคีภาคอีสาน)

สภส. สานพลังภาคีสุขภาวะภาคอีสาน เดินหน้าเต็มกำลังกับภารกิจเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัยให้ “อยู่ดีมีแฮง” เน้นทำงานแบบเครือข่าย ข้ามพื้น-ข้ามประเด็น สร้างการมีส่วนร่วม ผ่านเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม มุ่งสู่เป้าหมาย ผู้สูงอายุภาคอีสานมีสุขภาวะที่ดีและมีความสุข

 

“สังคมสูงอายุ” เป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะ “ภาคอีสาน” ที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นทุกปีเมื่อเทียบกับอัตราการเกิดที่น้อยลง อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุบางคนมีร่างกายไม่แข็งแรง ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และพบยังผลกระทบด้านเศรษฐกิจ นั่นหมายถึง ผู้สูงอายุหลายคนเผชิญกับสภาวะขาดเงินออม มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณ และใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีสุขภาวะภาคอีสาน ตื่นตัวเรื่องนี้เป็นอย่างดี พยายามปรับเปลี่ยนกระบวนการมาอย่างต่อเนื่อง และเร่งขยายภาคีเครือข่ายให้พร้อมปรับตัวเพื่อรองรับ สร้างสังคมสูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ 

 

…เชื่อมภาคีเครือข่าย ด้วยวิถีแนวราบ สร้างการมีส่วนร่วม คือ DNA ของ ภาคีสุขภาวะภาคอีสาน…

อาจารย์โหน่ง ผศ.ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ ผู้ประสานภาคีเครือข่าย ประเด็นผู้สูงอายุ โครงการไทอีสานสานสุข เล่าให้เราเห็นถึงวิธีการทำงานของภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคอีสาน ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะแบบบูรณาการ เชื่อมประสานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่าง สสส. ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่  โดยเฉพาะภาควิชาการที่มีสถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคอีสาน ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวนครราชสีมา  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ
จ.สกลนคร และมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ เป็นตัวกลางลุยทำงานในพื้นที่ 

แรงขับเคลื่อนที่สำคัญคือ สํานักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ หรือ สภส. เป็นตัวกลางเชื่อมประสานให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็ง ภายใต้แผนงานของ สภส. เพื่อสนับสนุนความรู้ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แชร์ประสบการณ์การทำงานแบบข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น ได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ

อาจารย์โหน่ง กล่าวเสริมว่า “สภส. สนับสนุนเครื่องมือและกลไกภาควิชาการที่ช่วยให้ขยายพื้นที่การทำงานให้กว้างมากขึ้นผ่านเวที โชว์ แชร์ เชื่อม เวทีที่เปิดพื้นที่ให้ทุกจังหวัดในภาคอีสานมาแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิดการพัฒนาระบบรองรับผู้สูงอายุ ได้ทั้งมุมมอง แนวคิดใหม่ที่หลากหลาย สามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตัวเอง จนนำไปสู่การทำงานแบบข้ามพื้นที่-ข้ามประเด็นกันในจังหวัดอื่น ๆ โดยมี สภส. เป็นพี่เลี้ยง ไม่ได้ปล่อยให้ทำงานคนเดียว จะมีทีมของ สภส. เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ ช่วยในการวางแผนการขยับงาน และเป็นที่ปรึกษาที่ดีในการดำเนินงานให้ประเด็นผู้สูงอายุครอบคลุมมากขึ้น จนเกิดผลลัพธ์ใหม่ ๆ โดยการที่เราสามารถขยายศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือ Day Care ที่เป็นศูนย์ต้นแบบไปยังหลายจังหวัด เช่น จ.นครพนม และจ.อำนาจเจริญ

…ลุยขยายพื้นที่ต่อ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ผู้สูงอายุ ฉบับอีสานแลนด์สไลด์…

แผนต่อไปของภาคีสุขภาวะภาคอีสาน อาจารย์โหน่งบอกว่า จะพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายภาคอีสานเดิม มุ่งขยายภาคีสร้างเสริมสุขภาวะหน้าใหม่ให้เพิ่มขึ้น กระจายอยู่ทุกมุมของภาคอีสาน เพื่อร่วมดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทุกมิติ เช่น มิติสุขภาพ เกิดเครือข่ายที่ จ.สกลนคร จัดกลุ่มสร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุด้วยการออกกำลังกาย ต่อมามิติเศรษฐกิจ ที่ จ.อำนาจเจริญ ก่อตั้งกองทุนและสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ และยังมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต้นแบบ หรือ Day Care ที่ จ.นครพนม ล่าสุดได้นำไปขยายต่อยอดในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ทั้งหมดเป็นการเชื่อมประสานทำงานในรูปแบบการมีส่วนร่วมที่เข็มแข็งของภาคีสุขภาวะภาคอีสาน

อาจารย์โหน่ง เล่าเพิ่มอีกว่า ไม่ใช่เพียงการดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุเท่านั้น เรายังมีกลุ่มเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นความร่วมมือของตำบลและโรงพยาบาลเปิดให้บริการ ต่อมาได้ขยายผลไปที่
จ.อำนาจเจริญ กลายเป็นศูนย์ระดับจังหวัด  ปัจจุบันศูนย์เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ จ.อำนาจเจริญ ยกระดับเป็นแหล่งเรียนรู้ Social Lab ของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ คณะสาธารณสุขฯมหาวิทยาลัยมหิดล 

นอกจากนี้ วางแผนจะเพิ่มเครือข่ายในโรงพยาบาล และ อสม. ซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและคนในชุมชน โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้จะเข้าใจปัญหาสุขภาพ รวมถึงวิถีชีวิตของผู้สูงอายุมากที่สุด ซึ่งทั้งหมดจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเปลี่ยนสังคมสูงวัยภาคอีสานในอนาคตให้มีคุณภาพได้

 

…มหกรรมไทอีสานสานสุข : โฮมแฮงเบิ่งแญงสุขภาวะ จุดประกายความคิด เปลี่ยนชีวิตผู้สูงอายุภาคอีสาน

ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จที่ออกมาสู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม คือ เวทีโชว์ แชร์ เชื่อม “มหกรรมไทอีสานสานสุข : โฮมแฮงเบิ่งแญงสุขภาวะ” จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำหรับ feedback งานนี้เต็มไปด้วยผลงานเด่นการสร้างเสริมสุขภาพแต่ละพื้นที่  ไฮไลท์สำคัญคงหนีไม่พ้น เสียงของภาคีสุขภาวะภาคอีสาน ได้มาโชว์ มาแชร์ มาเชื่อมกัน จนนำมาสู่การถอดบทเรียนได้อย่างสำเร็จ ในรูปแบบของ หนังสือสรุปบทเรียนการดำเนินงานนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุในภาคอีสาน ที่ครอบคลุมถึง 8 กรณี ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคอีสาน นับเป็นความภาคภูมิใจของภาคีสุขภาวะภาคอีสาน ที่ได้สานพลังร่วมกันสร้างองค์ความรู้สำคัญนี้ให้เกิดขึ้น”อาจารย์โหน่ง เล่าเสริม

 

…สานพลังชาวอีสาน ขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ โดยชุมชน เพื่อชุมชน…

ความร่วมมือของภาคีสุขภาวะภาคอีสาน มองเป้าหมายเป็นแนวราบในการส่งเสริม สนับสนุน
เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบกลไกและนวัตกรรม นำนโยบายการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุมาปรับใช้ให้สอดรับกับสถานการณ์เพื่อรองรับสังคมสูงวัยในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แม้ว่าแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่จะมีประเด็นปัญหาปลีกย่อยแตกต่างกัน และจำเป็นต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกัน  ไม่ว่าวิกฤตไหน สภส. ยังคงสนับสนุนองค์ความรู้ กลไกภาควิชาการ และทำหน้าที่เชื่อมประสานภาคีเครือข่าย ให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ สร้างการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ช่วยพัฒนารูปแบบและระบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ยังยืน

Shares:
QR Code :
QR Code