“วงแชร์สร้างสุข” ตอน สร้างสรรค์ งานสร้างสุข ในยุคดิจิทัล : เปิดทางใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มพลังภาคประชาชน
วันนี้น้องบัดดี้นำเรื่องเล่าจาก “วงแชร์สร้างสุข” ในชื่อตอนที่ว่า : สร้างสรรค์ งานสร้างสุข ในยุคดิจิทัล : เปิดทางใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มพลังภาคประชาชน ที่เพิ่งจัดกันไปเร็วๆ นี้ มาแชร์ให้พี่ๆ ภาคี สสส. ครับ
สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ และ สสส.ได้จัดวงแชร์ครั้งนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้วครับ ซึ่งประเด็นแลกเปลี่ยนในครั้งนี้เองได้เชื่อมโยงกับ “วงแชร์สร้างสุข” ตอน Rethink – Redesign คิดใหม่ ทำใหม่ ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ในครั้งที่ผ่านมาครับ
“การทำงานสร้างเสริมสุขภาพถูกท้าทายด้วยการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างหนึ่งในนั้นคือเรื่องดิจิทัล” ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวเปิดวงแชร์สร้างสุข และอธิบายต่อว่า มีเพื่อนภาคีหลายๆ ภาคี ที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะ ซึ่งนั่นหมายความว่า เพื่อนภาคีอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
“ดิจิทัล” เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคาม อยากให้ภาคี สสส. มองทั้ง 2 ด้านเสมอ เมื่อเรายิ่งก้าวหน้ามากก็จะมีคนที่ตามไม่ทัน และถ้าเราทิ้งใครไว้ก็จะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ จะมีคนที่ได้โอกาสขณะที่บางคนก็หลุดออกจากวงจรได้เร็วกว่าเดิม ดังนั้นพยายามมองทั้ง 2 มุม ในมุมที่เป็นประโยชน์ และเป็นภัยคุกคามต่อการสร้างเสริมสุขภาพ”
กรณีศึกษาและแลกเปลี่ยน “การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับงาน เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ”
1. Co Fact – เท่าทันสื่อด้วยพลังพลเมือง
จากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในไต้หวันที่เชื่อเรื่อง “พลังภาคพลเมือง” ในการรับมือด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร ทำเกิดโครงการที่ชื่อว่า โคแฟค หรือ COFACT ( Collaborative Fact Checking) โดยมีพื้นที่กลางในการให้ “ทุกฝ่าย” ร่วมกันหา “ข้อเท็จจริง” เพราะเชื่อว่าข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและเหตุปัจจัย
สำหรับการจัดตั้งโคแฟคในประเทศไทยนั้น ช่วงกลางปี 2562 มีการจัดสัมมนา International Conference on Fake News และลงนามประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวง ข่าวปลอมร่วมกัน นำโดยภาคี 8 องค์กร คือ สํานักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สําานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) องค์การกระจาย เสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือกับทางไต้หวัน จนเกิดโครงการโคแฟคในประเทศไทย
โคแฟค ได้นำแพลตฟอร์ม บนเว็บไซต์ Cofact.org และแอปพลิเคชัน LINE @Cofact มาใช้ในการเชื่อมผสานคนกับเทคโนโลยี เปลี่ยนวิธีคิด วิธีแก้ปัญหาจากเดิม ที่มอบบทบาทหน้าที่นี้ไว้กับหน่วยงานรัฐ มาสู่ “การใช้ Digital Technology บริหารเครือข่าย” เพื่อสร้างพลังของภาคพลเมืองตามแนวคิด “เราทุกคนเป็นผู้ตรวจสอบความจริง” โดยพลเมืองทำหน้าที่เป็น “ผู้ตรวจสอบข่าว แก้ไขข่าวลวงด้วยตนเอง” ยับยั้งข่าวลวงที่เผยแพร่โดย “Spreader” หรือ “ผู้ปล่อยข่าวลวง” ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา และ “Super Spreader” ในกรณีที่เป็นคนมีชื่อเสียงทางสังคม
2.Buddy HomeCare – เทคโนโลยีดิจิทัลกับการลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับสู่ SE (Social Enterprise)
Buddy HomeCare เกิดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ โดยมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ เป็นกิจการดูแล “ผู้สูงอายุถึงที่บ้าน” เพื่อแก้ปัญหาให้กลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล กลุ่มผู้สูงอายุที่ยากไร้ และกลุ่มเด็กด้อยโอกาส โดยเชื่อว่าชุมชน คือทางออกที่ตอบโจทย์และยั่งยืน
โดยให้ทุนเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา เสี่ยงที่จะถูกล่อลวงสู่วงจรยาเสพติดและการค้ามนุษย์ ไปฝึกอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ แล้วคัดเลือกไปเป็น Caregivers เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่บ้านที่มีรายได้เพียงพอและมั่นคง และ Buddy Homecare ยังส่งเสริมให้พวกเขาไปช่วยอาสาสมัครซึ่งมีความเชี่ยวชาญน้อยกว่าดูแลคุณตาคุณยายที่ยากไร้ในชุมชนด้วย เด็กๆ จึงทำหน้าที่ทั้งช่วยดูแลผู้สูงอายุ และเป็นอาสาสมัครสร้างคนให้ไปช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ยากไร้ด้วย
จากการสำรวจในแม่ฮ่องสอนกับเชียงใหม่มีกลุ่มน้อง ๆ ชาติพันธุ์ชนเผ่า ตกจากระบบการศึกษาเยอะที่สุดในประเทศ และก่อนที่จะเริ่มประชาสัมพันธ์โครงการ Buddy Homecare พบว่า จ.เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลถึง 50,000 คน และมีคนที่ต้องการรับบริการติดต่อเข้ามา 5,000 คน
Buddy HomeCare ต้องการแก้ปัญหาพร้อมกัน 2 ฝั่ง คือฝั่งผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแลและฝั่งของเด็กที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา จึงใช้ Digital Technology เป็นเครื่องมือ จึงเกิดนวัตกรรม 3 ชิ้น คือ
1. เพจเฟซบุ๊ก Buddy homecare และเว็บไซต์ buddyhomecare.com ประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชั่นและใช้ Google Forms เก็บข้อมูลผู้สนใจรับแผนการดูแลสุขภาพเบื้องต้น
2. Dashboard ส่วนบริหารจัดการข้อมูลลูกค้า และพนักงาน เป็นระบบหลังบ้านที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ และพยาบาลวิชาชีพ สามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์สุขภาพผู้สูงอายุได้เรียลไทม์
3. Application Buddy HomeCare การให้บริการตามแผนดูแลสุขภาพส่วนบุคคลที่ประเมินอาการ และวางแผนดูแลโดยแพทย์/พยาบาล ที่เป็นผู้จัดการรายกรณี (Case Manager)
นี่คือกรณีศึกษาของภาคีเครือข่าย สสส. ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับงาน เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ ที่ทางวงแชร์สร้างสุขได้นำมาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ครับ ติดตามเรื่องราวดีๆ ที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้เพื่อนภาคีได้ใหม่ในวงแชร์สร้างสุขรอบหน้านะครับ