รู้ทันกลยุทธ์ธุรกิจ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
รู้ทันกลยุทธ์ธุรกิจ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ในยุคปัจจุบัน ปัจจัยเชิงพาณิชย์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดสุขภาพของประชาชนทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยาสูบ อาหารแปรรูป พลังงานฟอสซิล และแอลกอฮอล์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้กลยุทธ์หลายรูปแบบ เพื่อสร้างอิทธิพลต่อการบริโภคและสุขภาพของประชาชน โดยมุ่งเน้นไปที่การทำกำไร แม้จะรู้ว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค และส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังและความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพอีกด้วย
ปัจจัยเชิงพาณิชย์กำหนดสุขภาพ (CDoH) คืออะไร?
ปัจจัยเชิงพาณิชย์กำหนดสุขภาพ (Commercial Determinants of Health: CDoH) คือ กิจกรรมและกลยุทธ์ของภาคธุรกิจที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตัวอย่างอุตสาหกรรมเช่น ยาสูบ (บุหรี่), เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, อาหารแปรรูปพิเศษ, เชื้อเพลิงฟอสซิล, ยาและเวชภัณฑ์, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุตสาหกรรมอาวุธ
แนวคิด CDoH อธิบายว่า องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยาม “ปัจจัยเชิงพาณิชย์กำหนดสุขภาพ” ว่าเป็นกิจกรรมของภาคเอกชนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในทางบวกและทางลบ บริษัทข้ามชาติหรือกลุ่มทุนสามารถกำหนด “สภาพแวดล้อมในการบริโภค” ให้คนทั่วไปเข้าถึงสินค้าหรือบริการที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โรคอ้วน การบาดเจ็บ ความรุนแรง หรือมลพิษต่างๆ
CDoH ถึงส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนอย่างไร?
ผลกระทบทางตรง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล หรือเกลือสูง ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) อีกทั้งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อปัญหาระบบทางเดินหายใจและคุณภาพชีวิต
ผลกระทบทางอ้อม การโฆษณาที่เน้นทำให้ผู้คนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายนั้นเป็นเรื่องปกติ เช่น การโฆษณาน้ำอัดลมว่าเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับทุกเทศกาล หรือการทำให้การสูบบุหรี่ดูเท่ห์ ซึ่งนำไปสู่การบริโภคที่ประชาชนจะไม่คำนึงถึงสุขภาพ
3 กลยุทธ์หลักที่ธุรกิจใช้เพื่อสร้างอิทธิพล
1 การทำให้เป็นเรื่องปกติ (Normalization)
- ภาคธุรกิจพยายามทำให้สินค้าหรือบริการที่อาจเป็นอันตรายนั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดา เช่น การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขนมขบเคี้ยวที่ดึงดูดเด็กและเยาวชน หรือทำโปรโมชั่นที่ราคาถูก
2 การปฏิเสธ (Denial)
- ธุรกิจบางแห่งบิดเบือนข้อมูลหรือเพิกเฉยต่อข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้คนยังคงบริโภคสินค้าเหล่านั้น โดยการสนับสนุนงานวิจัยที่ชี้ถึงข้อดีของสินค้า แต่ไม่พูดถึงข้อเสีย
3 การสร้าง “อิทธิพล” ต่อผู้บริโภค (Influence)
- อิทธิพลเชิงวัฒนธรรม: โดยสร้างกระแสให้ผู้คนยอมรับสินค้าผ่านการตลาด การโฆษณา ปรับสินค้าให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การปรับลดความหวานหรือเปลี่ยนรสชาติให้ถูกปากคนในแต่ละภูมิภาค
- อิทธิพลเชิงวิทยาศาสตร์: ให้ทุนวิจัย สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้กลยุทธ์ขยายงานวิจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อสินค้าของตน พร้อมทั้งมองข้ามหรือปิดผลกระทบที่เป็นอันตราย โดยบิดเบือนข้อมูล หลักฐาน และการเผยแพร่ รวมถึงปฏิเสธงานวิจัยที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์
ตัวอย่างผลกระทบของ CDoH ในมิติต่างๆ
- อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
- สนับสนุนการโฆษณาอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง (Ultra-processed Food) ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อ ซึ่งบางประเทศมีการออกกฎหมายติดฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ แต่บริษัทอาจล็อบบี้เพื่อลดมาตรการควบคุมเหล่านี้
- อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
- แม้จะมีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในเรื่องการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ แต่ภาคธุรกิจยังคงบิดเบือนข้อมูลหรือปฏิเสธผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ เช่น โรคทางเดินหายใจ และสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาโลกร้อน ฝนกรด
- ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- แม้ว่า AI จะมีประโยชน์ในการช่วยวิเคราะห์ วินิจฉัย และวางแผนนโยบายสาธารณสุข แต่ก็อาจถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยละเลยความเป็นส่วนตัวหรือจริยธรรมในการใช้ข้อมูล
- อุตสาหกรรมอาวุธ
- อุตสาหกรรมอาวุธก่อให้เกิดผลกระทบทางตรงผ่านความขัดแย้งสงคราม โดยการสูญเสียชีวิตและทรัพยากร รวมถึงการทำลายสาธารณูปโภคด้านสาธารณสุข ก่อให้เกิดผู้พลัดถิ่นและสภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจในพื้นที่ความขัดแย้ง
การล็อบบี้และการกำหนดนโยบาย
- บริษัทขนาดใหญ่หรือผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ มักล็อบบี้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้กฎระเบียบเอื้อประโยชน์ต่อตน ส่งผลให้มาตรการที่ควรปกป้องสุขภาพสาธารณะ เช่น การเก็บภาษีน้ำตาล การห้ามโฆษณาบุหรี่หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจถูกชะลอ หรือถูกบังคับใช้ไม่เต็มที่
สรุป
ปัจจัยเชิงพาณิชย์กำหนดสุขภาพ (CDoH) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกคนควรตระหนัก เนื่องจากธุรกิจไม่เพียงแต่จำหน่ายสินค้าหรือบริการที่มีประโยชน์เท่านั้น แต่ยังใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน การตระหนักถึงอิทธิพลจากธุรกิจเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีขึ้น โดยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและประชาชนในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่ช่วยปกป้องสุขภาพสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ