ภาคีภาคใต้เตรียมพร้อมเดินหน้า “สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13”
ภาคีภาคใต้เตรียมพร้อมเดินหน้า “สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13” แล้วนะค้าบบบบบ
.
น้องบัดดี้นำข่าวใหญ่มาบอกพี่ๆ ภาคีเครือข่ายครับ ว่า เร็วๆ นี้ พี่ๆ ภาคี สสส.ภาคใต้ เตรียมพร้อมเดินหน้า “สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13” โดยมุ่ง 4 เป้าหมายหลัก ความมั่นคงทางอาหาร-สุขภาพ-ความมั่นคงทางมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สู่การเป็นภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน
.
ตามมาอ่านข่าวพร้อมๆ กับน้องบัดดี้กันเลยค้าบ และเชิญชวนพี่ๆ ภาคีทุกหน่วยงานไปร่วมงาน “สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13” วันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กันนะค้าบ
.
สสส.เดินหน้า“สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13” มุ่ง 4 เป้าหมายหลัก ความมั่นคงทางอาหาร-สุขภาพ-ความมั่นคงทางมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สู่การเป็นภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือหน่วยงานด้านสุขภาพและภาคีเครือข่ายจัดงาน “สร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13” วางเป้าหมายสร้างความมั่นคง 4 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางมนุษย์ และความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อ “ภาคใต้แห่งความสุขเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต สุข สู่ สุขภาวะ” และการประชุมวิชาการ เรื่อง “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตที่ยั่งยืน : โอกาส และความท้าทาย”
โดยครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันนโยบายสาธารณะ , สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) , สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข , สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ โดยจะงานจะมีขึ้นในวันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) จาก สสส. กล่าวถึงบทบาท ในการสนับสนุนการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งนี้ ว่า สภส.เน้นกลไกการประสานภาคีเครือข่าย สสส. ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายให้เชื่อมโยงกันได้เอง ทำงานร่วมกันได้ พร้อมกับมีการทำงานร่วมกับ สสส.อย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบัน สภส.สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ร่วมขับเคลื่อนทั้ง 4 ประเด็นไปสู่ภาคใต้แห่งความสุข และแต่ละจังหวัดผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนากลไก กำหนดยุทธศาสตร์ผลักดันการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะ สู่เป้าหมาย “ภาคใต้แห่งความสุข” ได้ โดยทิศทางการพัฒนาที่เราอยากเห็นสู่เป้าหมายภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน คือ 1.ใช้กลไกที่มีอยู่เดิมขยายให้มากขึ้น และทำให้กลไกที่ออกแบบทั้งหมดสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยฝังในระบบทำงานปกติให้ได้ นอกจากนี้อยากเห็นการผลักดันให้เกิดกองทุนส่งเสริมสุขภาวะระดับจังหวัดครบทั้งภาคใต้ 2.การเชื่อมประสานเครือข่ายหลากหลายประเด็นให้มากขึ้น รวมถึงการดึงภาคีกลุ่มใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยร่วมในกลไก เช่น ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชน ฯลฯ เพื่อให้เกิดมิติการทำงานใหม่ๆ 3.การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็งมากขึ้น การพัฒนาการถ่ายทอดวงแลกเปลี่ยน รวมถึงเรื่องการสื่อสารสาธารณะ
“แนวคิดแรกๆ ในการทำงานร่วมกับภาคใต้ ก่อนปี 2558 สภส.ทำงานร่วมกับ ม.สงขลานครินทร์ โดยเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนงานวิชาการภาคใต้ ภายใต้ชื่อโครงการศูนย์วิชาการสร้างเสริมสุขภาพภาคใต้ (ศวสต.) ซึ่งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีการเชื่อมประสานบูรณาการข้ามเครือข่าย ข้ามประเด็น โดยมีการขับเคลื่อนร่วมกัน 4 ประเด็นหลัก คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางมนุษย์ และความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้นำมาถอดรูปแบบการทำงานแบบเครือข่ายที่เป็นต้นแบบ รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพภาคใต้ที่เกิดขึ้น และพัฒนารูปแบบกลไกการเชื่อมประสานภาคีเครือข่าย โดยมีวาระขับเคลื่อนร่วมกัน คือ “ภาคใต้แห่งความสุข” ซึ่งจะมีการจัดเวทีสร้างสุขภาคใต้ร่วมกันมาตลอด จนถึงปัจจุบันมาสู่การยกระดับการดำเนินงานเป็นศูนย์วิชาการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (ศวนส.) เกิด นำไปสู่ภาคใต้แห่งความสุขเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตต่อไป”
ด้าน ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส. ม.อ.) และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 ว่า ความร่วมมือครั้งสำคัญของภาคเครือข่ายภาคใต้ ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ประชาสังคม ประชาชน เครือข่ายสื่อมวลชน และภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสานพลังความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งในปีนี้ทางกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้เป็นเจ้าภาพ โดยมีนายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นประธานคณะทำงานจัดงาน สำหรับรูปแบบการจัดงานในครั้งนี้คือ ได้ร่วมกับงานสมัชชาสุขภาพ มีการกำหนดวาระสร้างสุขภาคใต้ เป็นการยกระดับงานในพื้นที่สู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และขับเคลื่อนข้อเสนอในปีถัดไป โดยมีรูปแบบการขับเคลื่อนงานระหว่างภาคีเครือข่าย คือการสานงาน เสริมพลัง บูรณาการข้ามเครือข่าย ข้ามประเด็น และปีนี้เองยังมีการประชุมวิชาการด้านการประเมินผลกระทบจากสุขภาพ (HIA Forum) ระดับประเทศร่วมด้วย โดยจะมีนักวิชาการ นักศึกษา และประชาขนผู้สนใจจากทั่วประเทศร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีปาฐกถาเรื่อง“สานพลัง หนุนเสริมนวัตกรรม สู่สุขภาวะแห่งอนาคต” โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. รวมถึงเสวนาที่น่าสนใจ เช่น เสวนา “ทิศทางการพัฒนา สู่เป้าหมายภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน”, เสวนา “ความท้าทายในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”, เสวนา “การบูรณาการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อการจัดทาแผนพัฒนาเชิงพื้นที่” เป็นต้น และการนำเสนอผลงานของภาคีเครือข่ายในห้องย่อยที่น่าสนใจอีกมากมาย