การสื่อสารกับการพัฒนาศักกยภาพภาคีสุขภาวะ

 

#ภาคีมีเรื่อง(เล่า)

พี่ ๆ ภาคีเคยสงสัยไหมครับว่า “การสื่อสาร” สำคัญกับการสานงาน เสริมพลัง พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายอย่างไร

ฤกษ์งามยามดีน้องบัดดี้จะพาทุกคนไปสัมผัสมุมมอง แนวคิดดี ๆ ในเรื่องของการสื่อสารกับภาคีหน่วยจัดการ สสส. (Node) ที่มีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมการดำเนินงานของภาคีสร้างเสริมสุขภาพรายย่อยให้สามารถดำเนินงานได้บรรลุตามเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้

วันนี้พี่ ๆ ภาคีเครือข่ายตัวแทนหน่วยจัดการทั้ง 4 ภาคทั่วไทย ที่จะมาแชร์มุมมองดี ๆ ของความสำคัญ “การสื่อสาร” ผ่านบทความชิ้นนี้ ถ้าพร้อมแล้ว ไปกันเลยครับ

การสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยทำให้ภาคีเครือข่ายเชื่อมประสานกัน ทำงานร่วมกันแบบข้ามพื้นที่ข้ามประเด็น ในทุกกระบวนการทำงาน ตั้งแต่กระบวนการแรกคือสร้างความเข้าใจในเป้าหมายร่วมกัน สร้างความเข้าใจในกระบวนการทำงานตรงกัน ทำให้การทำงานของภาคีเครือข่ายสามารถทำร่วมกันได้ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในเป้าหมายเดียวกัน

เรื่องนี้ อาจารย์สุวิทย์ หมาดอะดำ หน่วยจัดการพื้นที่ชุมชนน่าอยู่ชายแดนใต้ (จังหวัดปัตตานีและยะลา) ตัวแทนจากภาคใต้ คอนเฟิร์มมาครับ

อาจารย์สุวิทย์ บอกว่า“…ใช้กลยุทธ์อยู่สองเรื่องสำหรับผู้บริหารที่เป็นภาคี เราจะใช้กระบวนการ เวทีต่าง ๆ เพื่อที่จะให้เขาเข้าใจถึงงานที่เรากำลังทำ แล้วสิ่งสำคัญมากคือ เขาจะสามารถเชื่อมงานของเขาได้ อย่างไร ดังนั้น เราใช้กระบวนการสื่อสารนี่แหละเป็นตัวบอกว่าสิ่งที่เรากำลังทำ กับสิ่งที่เขากำลังทำ มีเป้าหมายเดียวกัน จะทำให้เกิดความร่วมมือจากภาคีด้วยกัน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ…”

ยืนยันอีกเสียงจากตัวแทนภาคเหนือ หน่วยจัดการพื้นที่ชุมชนน่าอยู่อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ อาจารย์เผด็จการ กันแจ่ม หรืออาจารย์หนุ่ย

“การสื่อสารกับภาคีเครือข่ายมีสองระดับคือการสื่อสารกับภาคีเครือข่ายที่เป็นชุมชน กับภาคีเครือข่ายในระดับผู้บริหารระดับอำเภอและตำบล ในการสื่อสารกับชุมชนเราต้องแปลงสารที่เป็นภาษาวิชาการให้เป็นภาษาที่ชุมชนเข้าใจง่าย ส่วนการสื่อสารกับผู้บริหาร เราต้องสื่อสารโดยใช้ข้อมูลเพื่อให้ภาคีได้เห็นเป้าร่วมและผลประโยชน์ที่ภาคีจะได้รับ จะทำให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ เป็นการสื่อสารสองทาง จะทำให้เกิดการทำงานที่มีความเข้าใจตรงกันระหว่างภาคีเชิงปฏิบัติการและภาคีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ครับ”

มาต่อกันที่ หน่วยจัดการ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนจากภาคกลาง อาจารย์เจษฏา มิ่งสมร เห็นว่า การสื่อสารยังเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์โอกาสให้ชุมชนค้นศักยภาพตัวเอง โดยสื่อสารในสิ่งที่ดำเนินการ บนเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในเรื่องการทำงานที่ประสบความสำเร็จ และอุปสรรคปัญหาในการดำเนินการ

“…ผมเชื่อว่าคนทุกคนสามารถพัฒนาได้ ถ้าเขาได้รับโอกาส ดังนั้น ผมเชื่อว่าคนทุกคนสามารถทำได้ ทั้งเรื่องการสื่อสาร เรื่องการทำงาน เรื่องการอะไรก็แล้วแต่ เพียงแต่ว่าเขาจะมีความถนัดความชอบในแต่ละเรื่องได้มากน้อยขนาดไหน เพราะฉะนั้นคนที่เขาอินกับเรื่องไหน เขาจะต้องถ่ายทอดได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาได้ เพราะฉะนั้นโครงการที่ สสส สนับสนุนคือโครงการสร้างสรรค์โอกาสจริงๆ ให้คนได้มีโอกาสที่จะได้ค้นศักยภาพของตัวเองออกมา ซึ่งไม่ได้ว่าต้องสำเร็จทุกคนนะครับ การสร้างสรรค์โอกาสให้คนเล็กคนน้อยได้มีโอกาสสื่อสารกับสิ่งที่เขาทำ โดยไม่ต้องไปคิดถึงความสมบูรณ์แบบ นั่นหมายถึงการสร้างโอกาสให้เขาเติบโตด้วยตัวเขาเองครับ…”

ท่านสุดท้าย ตัวแทนจากภาคอีสาน หน่วยจัดการ จังหวัดนครพนม อาจารย์คณิน เชื้อดวงผุย เล่าว่า ได้ใช้ช่องทางการสื่อสารในการทำงานร่วมกับเครือข่าย หลาย ๆ ทาง ทำให้เกิดการเชื่อมงานของภาคี แบบข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น จนเกิดผลลัพธ์การทำงานที่มีประสิทธิภาพด้วยนะครับ

“…การสื่อสารมีความสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่มีช่องทางการสื่อสารเยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจะเป็น Line เป็น page หรือ Website อะไรต่าง ๆ ผมมองว่าการทำงานในลักษณะของภาคีเป็นการทำงานที่ต้องใช้การสื่อสาร แต่ใช้ในลักษณะเป็น command หรือเป็นคำสั่งอะไรไม่ได้

ดังนั้น การทำงานสร้างสุขภาวะต้องเน้นในเรื่องการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจเป็นสำคัญ ในการทำงานภาคีเชิงเครือข่าย การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของกระบวนการทำงาน หรือเรื่องการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ของการทำงานร่วมกัน เราสามารถใช้ช่องทางเหล่านี้ได้ ซึ่งมีหลายลักษณะ เช่น การสื่อสารที่ฝากข้อความไว้ แบบ Line application แล้วจึงมีการตอบกัน อีกลักษณะหนึ่งที่มูลนิธิเราชอบใช้กันคือ การประชุมออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่ต้องเดินทาง ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงด้วย…”

จะเห็นได้ว่า ภาคีหน่วยจัดการ จากทุกภาคทั่วประเทศให้ความสำคัญกับการสื่อสารว่า เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย การสื่อสารเป็นการเชื่อมประสานการทำงานให้ภาคีสามารถทำงานร่วมกันแบบข้ามพื้นที่ข้ามประเด็นได้ ตั้งแต่กระบวนการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน กำหนดเป้าหมายร่วมกัน การทำงานที่สอดคล้องกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งความสำเร็จ และแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ

และที่สำคัญที่สุด น้องบัดดี้ภูมิใจที่จะบอกว่า โครงการต่าง ๆ ของ สสส. เป็นเวที เป็นพื้นที่ที่สร้างโอกาสให้ภาคีเครือข่ายได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง ได้เชื่อมประสาน เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกัน และมีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะอย่างแท้จริง… ดีใจ ภูมิใจจังครับ

Shares:
QR Code :
QR Code