New Trend New Gen วิถีไหน ได้ไปต่อ กับงานสร้างสุขภาวะในโลกยุคใหม่

New Trend New Gen วิถีไหน ได้ไปต่อ กับงานสร้างสุขภาวะในโลกยุคใหม่

ซีรี่ส์ 4 ภาค : เรื่อง(เล่า) ภาคกลาง

เมื่อโลกอยู่ในยุคของความผันผวน จาก VUCA มาเป็น Bani เกิดความไม่แน่นอน อย่างคาดเดาได้ยากสถานการณ์สุขภาพมีความท้าทายมากขึ้นในทุกมิติ จะรองรับ และปรับวิถีการทำงานสร้างสุขภาวะอย่างไร หาคำตอบไปพร้อม ๆ กันกับ วงแชร์สร้างสุข : New Trend…New Gen ครั้งที่ 1 “วิถีไหนไปต่อได้…ในงานสร้างสุข”

งานสร้างสุขจะไปต่อได้ ต้อง รู้ตน รู้คน รู้เป้าหมายร่วมกัน…

คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death แชร์ประสบการณ์ รูปธรรมทำมาแล้ว “ความตายพูดได้” อย่างน่าสนใจว่า “…ความตายพูดได้ หรือ Peaceful Death คือ ผู้เชี่ยวชาญในการเตรียมตัวตาย การวางแผนชีวิตในระยะท้าย การดูแลความเจ็บป่วยและความสูญเสีย เรามีข้อมูลและเครื่องมือที่เข้าถึงง่าย สามารถให้คำแนะนำ ปรึกษา จัดอบรม และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ในสังคมเข้าถึงการตายดี โดยจัดอบรมปีละ 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมอบรมครั้งละ 40 คน จึงมีผู้ได้รับความรู้ในเรื่องนี้เพียงปีละ 200 คน ดังนั้น เพื่อให้ความรู้เรื่อง Peaceful Death กระจายไปอย่างกว้างขวาง เราจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเพื่อสื่อสารสู่สาธารณะ ทำให้เราปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

การวางแผนเพื่อปรับตัว หรือ Plan for Adaptation มีอะไรบ้าง…

รู้ตน : รู้ว่าเราเป็นใคร มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร อะไรทำให้เราอยากทำงานนี้

รู้คน : คนที่เราทำงานด้วยเป็นใคร มีคุณลักษณะแบบไหน เขาสนใจเรื่องนี้เพราะอะไร

มีเป้าหมายร่วมกัน : เห็นภาพตรงกันว่ากำลังจะไปไหน ระหว่างทางจะเจอความท้าทายอะไรบ้าง เราจะดูแลตัวเองและงานของเราได้อย่างไรให้สมดุล

ความรู้ที่เข้าถึงง่าย : ความรู้ และทักษะอะไรที่จำเป็น เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ และเป็นมิตรกับผู้ใช้

มีภูมิคุ้มกัน : คนทำงานมี mindset หรือค่านิยม ในการทำงานที่ยืดหยุ่น ปรับตัวง่ายและพร้อมรับมือกับโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน

เราจะไปถึงเป้าหมายของการสร้างสุขได้อย่างไร ภายใต้ New Trend New Gen…

สิ่งที่ได้จากวงแชร์สร้างสุขครั้งนี้ มีอยู่ 2 ประการ คือ 1. ยอมรับความแตกต่างที่หลากหลาย : ความแตกต่างหลากหลายเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนางานและองค์กร มนุษย์เรียนรู้บนความเหมือน และเติบโตบนความแตกต่าง เติมคนใหม่ ๆ New Gen เข้ามาในองค์กรเพื่อการเรียนรู้และปรับตัว และ 2. ยังชีพได้ : ได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล
มีรายได้เพียงพอที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ ได้รับสวัสดิการที่เพียงพอและเหมาะสม ดูแลและใส่ใจกัน

New Trend New Gen เห็นคุณค่าในคนและงาน : ตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งที่ทำ เห็นความสำคัญของการพัฒนางานควบคู่ไปกับการพัฒนาคน…

ดร.ณัฐพันธ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) มาร่วมแชร์แนวทางการทำงานสร้างสุขในยุคใหม่ว่า “…การทำงานสร้างสุขภาวะในโลกยุคใหม่ ที่มีความท้าทายนี้ สภส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าดูแลภาคีเครือข่ายของ สสส. ทั่วประเทศ เราได้ออกแบบชุดสมรรถนะใหม่ของการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพ ให้ภาคีมีความรู้ มีเครื่องมือ พร้อมรับ และปรับตัว ก้าวทันต่อวิกฤติสุขภาพที่จะเกิดขึ้น ชุดสมรรถนะนี้ จะออกแบบการทำงานทั้งระบบกลไกการทำงาน ภายใต้แนวคิด Together We Can ร่วมกัน เราทำได้

และในมิติของคำว่า Can โดยชุดสมรรถนะนี้ จะมีการอบรม ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอีกตัวที่สำคัญคือ การใช้จุดเด่นของภาคีเครือข่าย สสส. ที่เป็นสมรรถนะร่วม หรือ Collective Competency นำความสามารถของเพื่อนมาเติมเต็มให้กัน ทำให้เราสามารถทำในเรื่องที่ไม่เคยทำได้มาก่อน โดยการให้เพื่อนมาช่วย และในขณะเดียวกันเราก็สามารถช่วยเพื่อนได้ พอมาเชื่อมงานกัน จะทำให้เกิดการทำงานสร้างเสริมสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมากไปกว่านั้นคือการที่เราต้องเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้”

นอกจากนี้ ยังได้แนวคิดดี ๆ จากวงแชร์ในครั้งนี้อีกด้วย ว่า เราต้องทำงานภายใต้ New Trend ทำให้เราต้องเข้าใจธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องทำงานด้วย เพื่อจะออกแบบเครื่องมือและกระบวนการให้เข้าถึงง่ายให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจ โดยเราต้องไว้วางใจให้ New Gen ทำในเรื่องที่เราไม่เก่ง เราสามารถแสวงหาพันธมิตรที่เก่งให้เขาทำในสิ่งที่เขาถนัด เราต้องนำความรู้มาแปลงเพื่อให้คนเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเราจะได้สื่อใหม่ ๆ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างเข้าใจง่ายและเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยน mindset ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้คิด ได้ทำอย่างจริงจัง ให้โอกาสเขาคิดและตัดสินใจได้เอง จะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ ไปได้ไกลกว่าที่เราคิดไว้มาก

การทำงานภายใต้ New Trend 3 ประเด็นหลักที่น่าสนใจ คือ ประเด็นแรกคือเราต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เราเรียนรู้จากความเหมือนและเติบโตจากความแตกต่าง การที่เราทำงานกับ New Trend New Gen ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น ความเห็นที่ต่างกันเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น จึงต้องมี mindset ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่และปรับตัวร่วมกันได้ ประเด็นที่สอง คือการทำงานเพื่อสังคมต้องเป็นอาชีพได้ ยังชีพได้ ประเด็นสุดท้าย คือ งานที่เขาทำมีความหมายกับสังคมอย่างไร เขาควรได้รับการพัฒนาศักยภาพควบคู่ไปกับการพัฒนางานด้วย ซึ่งจะทำให้เราเติบโตไปด้วยกัน

วิถีไหนไปต่อได้ ในการสร้างเสริมสุขภาพ…

เมื่อเรารับรู้จากการแชร์ประสบการณ์ ของ Peaceful Death ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องระดมความคิดกับคนชวนคุยห้องย่อย และได้กลไกใหม่ ๆ ของการทำงานสร้างสุข ที่น่าสนใจ อาทิ

– กลไกใหม่ที่จะทำให้ไปต่อได้คือการมีความจริงจังบนความครีเอทีฟ หมายความว่า เราจริงจังในการทำงานและสามารถมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ทดลองและผิดพลาดได้ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ

– กระบวนการทำงานกับคนรุ่นใหม่ ด้วยกลไกการสั่นคลอนความเชื่อ และสร้างมิติใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

– กลไกสำคัญ 3 ประเด็น คือ Issue-based Area-based และ Problem-based เข้าด้วยกัน

– กลไกศาสนา เพิ่มบทบาทให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคม

เป็นอย่างไรกับบ้างครับ หลังจากได้ฟังมุมมองที่น่าสนใจจากงานวงแชร์สร้างสุข : New Trend…New Gen ครั้งที่ 1 “วิถีไหนไปต่อได้…ในงานสร้างสุข” แล้ว น้องบัดดี้เชื่อว่าถ้าพี่ ๆ ภาคีเครือข่ายอ่านบทความพิเศษนี้จบแล้ว จะได้เห็นภาพการทำงานแบบใหม่ที่ก้าวล้ำ ทันยุคสมัยในการสร้างสุขภาวะให้กับคนไทยอย่างแน่นอนครับ

…………….

ผลิตโดย เพจ Thaihealth Buddy
สนับสนุนโดย สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Shares:
QR Code :
QR Code