
จุดเริ่มต้นภารกิจสร้างสังคมสุขภาพในประเทศไทย
หากกล่าวถึงการรณรงค์เรื่อง “บุหรี่” ในประเทศไทย เราจะเห็นว่า 20 ปีที่ผ่านมา
กระแสการรณรงค์เรื่องการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ได้ถูกพูดถึงในวงกว้าง ซึ่งก่อนหน้านั้นค่านิยมเรื่องสุขภาพยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก พฤติกรรมการดำเนินชีวิตคนของไทยยังคงส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ทางสุขภาพ และเน้นหนักไปทางการรักษา ไม่มีการรณรงค์ป้องกัน
“เวลาคนคิดถึงเรื่องสุขภาพ มักจะคิดว่าคือการรักษาตัวที่คลินิกหรือโรงพยาบาล แต่ไม่ได้คิดถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะป่วย และไม่มีใครชี้ให้เขาเห็นว่า ทุกคนสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้จากเรื่องพฤติกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม” ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้เกิดกองทุน สสส. องค์กรที่ผลักดันแคมเปญรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และเปลี่ยนค่านิยมเรื่องการสูบบุหรี่ในประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น
“ย้อนไปตอนนั้นปี 2534 กระทรวงสาธารณสุขก็มี ‘สำนักควบคุมยาสูบ’ ซึ่งมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ร่วมผลักดันก่อตั้งขึ้นมา ก็มีคนทำงานอยู่ 5-6 คน ซึ่งแต่ละปีมีงบประมาณในการทำงานให้ 10 ล้านบาท ใช้สำหรับทำงานควบคุมยาสูบทั่วประเทศและนอกกระทรวงก็มีหน่วยงานเล็ก ๆ แค่ 2 องค์กร ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องบุหรี่ คือ มูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และมูลนิธิส่งเสริมสุขภาพไทย”
“ซึ่งกระทรวงเองก็มีกฎหมายห้ามสูบ มีกฎหมายห้ามโฆษณา แต่ไม่มีเงินใช้ในการที่จะรณรงค์สนับสนุน เพราะเงินแค่ 10 ล้าน ไม่สามารถรณรงค์ได้ทั่วประเทศ แต่ก่อนไม่มีแม้แต่เงินพิมพ์สติ๊กเกอร์ งบประมาณแค่ 10 ล้านบาท สติ๊กเกอร์รณรงค์หนึ่งแผ่นก็ 3.50 บาทแล้ว ไม่ต้องพูดถึงงบเรื่องงานวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลไปทำการรณรงค์หรือสนับสนุนการกำหนดนโยบาย ทำให้งานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ไม่สามารถกระจายไปถึงประชาชนในวงกว้าง”
ข้อจำกัดที่เกิดขึ้น จึงเกิดการรวมไอเดียจากบุคลากรชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘นวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ’ ขึ้นมาในสมัยรัฐบาลนายกชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีเหล้าและบุหรี่และนำมาใช้รณรงค์เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพตั้งแต่ต้นเหตุ
“กระทรวงการคลังเขากำลังเปลี่ยนรัฐบาลใหม่และจะทำแผนนโยบาย ‘การเงินการคลังเพื่อสังคม’ กระทรวงสาธารณสุขเลยไปเสนอกองทุน 2 กองทุนด้วยกันคือ ‘กองทุนประกันสุขภาพ’ และ ‘กองทุนสร้างเสริมสุขภาพ’ และตั้งคณะทำงานขึ้น 2 ชุด ชุดหนึ่งไปศึกษาเรื่องประกันสุขภาพ ซึ่งตอนหลังก็ออกมาเป็น ‘สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ (สปสช.) และนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค อีกชุดหนึ่งมาเป็น ‘สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ’ (สสส.)”
การเกิดขึ้นของ สสส. ทำให้ข้อจำกัดในเรื่องเงินทุนในการทำงานวิจัยและรณรงค์หายไป และก่อให้เกิดภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ เครือข่ายครู เครือข่ายเยาวชนเครือข่ายสื่อและท้องถิ่น ทำให้การเดินหน้าผลักดันและรณรงค์เป็นไปอย่างรวดเร็ว
เบื้องหลังความสำเร็จ
“การเกิดขึ้นของ สสส. สร้างสิ่งใหม่ขึ้นหลายอย่าง หนึ่งคือ ‘นวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ’ การมีกฎหมายกำหนดให้ได้งบประมาณจากภาษีสุราและยาสูบ เอาภาษีบาปมาสร้างเสริมสุขภาพ การทำงานแบบ สสส. ถึงเกิดขึ้นมาได้
“อย่างที่สองคือ สสส. ทำงานด้วยข้อมูล งานของการสร้างเสริมสุขภาพเป็นงานนวัตกรรม ไม่ใช่งานบริการ การทำงานทุกโครงการของเราวางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล หลังจากได้ข้อมูลแล้วก็ต้องไปวิจัย ไปสำรวจ เอามาแปรผล และนำสิ่งที่ได้มาใช้แก้ปัญหา
สสส.จุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลังให้กับภาคี/โครงการต่างๆ
“การทำงานของ สสส. สร้างความตระหนักรู้เรื่องของสุขภาพ ว่าการที่จะมีสุขภาพดีได้ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ทั้งเรื่องของนโยบายก็ดี เรื่องของสิ่งแวดล้อมก็ดี เรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชนก็ดี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามมาจากการทำงาน สสส. ทำให้สังคมตระหนักรู้แล้วก็เข้าใจ คำว่าสุขภาพกว้างไปกว่านั้น คุณสามารถจัดการสุขภาพได้ด้วยตัวคุณเอง
“ถ้าให้เปรียบ สสส. เป็นเหมือนตัวจุดประกายแล้วประสานเสริมให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น ประเทศไทย ไม่เคยมีกฎหมายควบคุมสุราเลย สสส. ก็เข้าไปจุดประกาย เสร็จแล้วก็ไปสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงด้วยการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข”
“การจุดประกายจากจุดเล็ก ๆ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ การจะผลักดันให้เกิดนโยบายที่ทำให้สังคมสุขภาพดีขึ้น จะเกิดขึ้นมาไม่ได้เลยถ้าอาศัยฝ่ายราชการอย่างเดียวต้องมีภาคประชาชน ภาควิชาการเข้ามาเสริมเติมด้วย ซึ่งเป็นงานที่ สสส. ทำมาอย่างต่อเนื่อง”
ที่มาข้อมูล : 20 Years 20 Big Changes ภารกิจ 20 ปี เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมสุขภาวะ
ที่มาภาพ : คลังภาพ
===========
ติดตามข่าวสารและข้อมูลเพิ่มเติมที่
Facebook Page : https://www.facebook.com/partnershipbuddy https://www.facebook.com/thaihealth.buddy
Website : https://www.thaihealth.or.th/partnership/
โทรศัพท์ : 02-343-1500
Line : TH_Buddy
#เพื่อนภาคี #สภส #สำนักภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ #20ปีภาคีสร้างสุข #สสส #partnershipbuddy #เครือข่ายสสส #เปลี่ยนซ่อมเป็นสร้าง #จุดประกายสานเสริมพลัง #ภาคีสสส #วันงดสูบบุหรี่โลก #รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ #ขับเคลื่อนบุหรี่