เปิดเทคนิคการสื่อสารกับงาน “สื่อสร้างสรรค์ ภาคีสร้างสุข By สภส.”
#สาระนักสื่อสาร วันนี้นักสื่อสาร Recap ประเด็น จากเวทีเสวนา “สื่อสร้างสรรค์ ภาคีสร้างสุข By สภส.” มาให้อ่านกันสบายๆ เข้าใจง่ายๆ กันแล้วค๊าาาา
เวทีเสวนาคุณภาพ ที่อัดแน่นไปด้วยเทคนิคดี ๆ ด้านการสื่อสารจากกูรู คนเก่ง ระดับ Top ในวงการสื่อสร้างสรรค์ของไทย และไม่พลาดที่จะเก็บได้รวบรวมเทคนิคดี ๆ ย่อยมาแล้วให้พี่ ๆ ภาคีเครือข่ายเข้าใจง่าย นำไปปรับใช้กับงานสร้างเสริมสุขภาพของตัวเอง….. มีอะไรบ้าง ไปเรียนรู้พร้อมกันเลยค่ะ
#สาระนักสื่อสาร
เปิดเทคนิคการสื่อสารกับงาน “สื่อสร้างสรรค์ ภาคีสร้างสุข By สภส.” ผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ กับเวทีเสวนาคุณภาพ ที่อัดแน่นไปด้วยเทคนิคดี ๆ ด้านการสื่อสารจากกูรู คนเก่ง ระดับ Top ในวงการสื่อสร้างสรรค์ของไทย ทั้ง 3 ท่าน คือ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ThaiPBS คุณ สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเพจ ‘Toolmorrow’ ภาคีด้านเด็ก ครอบครัว และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสื่อออนไลน์ และ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สภส.
…..วันนี้ได้รวบรวมเทคนิคดี ๆ ย่อยมาแล้วให้พี่ ๆ ภาคี เข้าใจง่าย นำไปปรับใช้กับงานสร้างเสริมสุขภาพของตัวเองได้ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไปเรียนรู้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
มาเริ่มกันที่ท่านแรก ผอ.พี่กบ ของเรา ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.)
ผอ.พี่กบ บอกว่า…“เวทีเสวนา “สื่อสร้างสรรค์ ภาคีสร้างสุข By สภส.” ภายใต้โครงการ ความร่วมมือการสื่อสารเพื่อสนับสนุนภาคีสุขภาวะ โดยเชิญ สื่อสาธารณะ สื่อยุคใหม่ นักสื่อสาร นักนิเทศศาสตร์ และภาคีเครือข่าย สสส. มาร่วมเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมที่พิเศษ เพราะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก เวทีนี้จะนำ 2 เรื่องดี ๆ มาพบกัน คือ ตัวอย่างที่ดีในการทำงานของภาคีเครือข่าย สสส. ทั่วประเทศ เป็นสารที่ดีมาก ๆ ที่เราจะแปลงเป็นสื่อที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสื่อยุคใหม่ หรือสื่อดิจิทัล ซึ่งเป็นสื่อกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เมื่อนำ 2 เรื่องนี้ มาเจอกัน จะเกิดสื่อที่สร้างสรรค์และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม การจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ กฌต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างสื่อด้วยเช่นกัน ดังนั้น กิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในระยะยาวต่อไป
งานเสวนาครั้ง เป็นกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “สื่อสร้างสรรค์ ภาคีสร้างสุข” โดย สภส. จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาราชภัฏราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา จาก 5 มหาวิทยาลัยนี้ร่วมทำงานกับภาคีเครือข่าย ในการนำเนื้อหาจากภาคีเครือข่ายมาเป็นข้อมูลในการจัดทำสื่อเพื่อประกวด เช่น การประกวดทำคลิปวิดีโอสั้น การทำภาพยนตร์สั้น และงานเขียนดี ๆ ภายใต้ธีม “คุณค่าของคนขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ”
ซึ่งจะมีโจทย์ย่อย 4 โจทย์ คือ
(1) “ปัจจัยเสี่ยงหลักทางสังคม” หรือ สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วยล้มตายจากโรค หรือปัจจัยที่ป้องกันได้ อาทิ การลดละเลิกการสูบบุหรี่ การลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุบนท้องถนน
(2) “เกษตรปลอดสาร .. อาหารปลอดภัย” ทำอย่างไรจึงจะได้ผลผลิตการเกษตรปลอดสาร และคนบริโภคอย่างถูกสุขภาวะ
(3) “สุขภาวะที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” อาทิ มลภาวะต่าง ๆ ที่คุกคามสุขภาวะของคนไทย
(4) “ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ” เป็นการเจาะลึกชีวิตกลุ่มคนด้อยโอกาส อาทิ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน คนจนเมือง หรือคนเปราะบาง
….แล้วในอนาคต ทิศทางการสื่อสารที่พี่ ๆ นักศึกษา และคนในวงการสื่อสารมวลชนควรรู้ มีอะไรที่น่าติดตามบ้าง? รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล หรือ อาจารย์ปุย ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) Thai PBS จะมาเล่าให้ฟังค่ะ
อาจารย์ปุย บอกว่า ….“การเป็น Digital Transformation หัวใจสำคัญอยู่ที่เป้าหมายของการทำงานสื่อสาธารณะของ Thai PBS คือเป้าหมายการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น Social Drive Oriented จึงเป็นหัวใจสำคัญของทิศทางสื่อในปัจจุบันและในอนาคต คือจะไม่ได้เป็นเพียง Watch Dog หรือ Gate Keeper แต่ต้องเป็น Fact Checker ด้วย ไม่ได้เป็นแค่คนสร้างสรรค์เนื้อหาที่นำไปสู่การสร้างสรรค์แรงบันดาลใจ เพราะใคร ๆ ก็ทำได้
การเป็นนักสื่อสารที่ดีต้องเป็น Meaningful Creator คือการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากทำให้เกิดความหมายอะไรในใจของผู้ชม หรือในแวดวงคนทำข่าว เราจะเป็นแค่สื่อสารมวลชน หรือ Journalist ไม่ได้แล้ว เราต้องเป็น Solution Journalist คือ งานทุกอย่างต้องนำไปสู่ผลลัพธ์ของสังคม ประเด็นทุกประเด็นต้องมีทางออก ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพการเติบโตของคนในวงการนี้ด้วย
Thai PBS มีสโลแกนการทำงาน คือ คุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน หมายความว่า เราไม่ได้ทำงานตอบโจทย์ตลาด แต่เราทำงานยึดโยงกับประชาชน เราต้องการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างเคารพกัน ในความแตกต่างหลากหลาย แต่ไม่ใช่ความรุนแรง สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ประชาชนดูด้วย เราสร้างสื่อเพื่อจะตอบโจทย์ความคุ้มค่าให้กับสังคมได้อย่างไร แล้วเราจะสร้างมูลค่าจากการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างไร เราจึงต้องปรับกลยุทธ์ให้งานที่ดีเข้าถึงประชาชน เราใช้กลยุทธ์ seamless experience คือเปลี่ยนผู้ชมที่เป็นขาจร ให้เป็นผู้ชมขาประจำ โดยใช้ Big Data Management เพื่อออกแบบ Public Digital Media ให้เข้าถึงผู้ชมเหล่านี้…”
อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องบอกเลยว่า อาจารย์ปุย ทำให้เห็นภาพการสื่อสารเพื่อสร้างคุณค่าให้สังคมได้อย่างชัดเจนเลยครับ พี่ ๆ ภาคีอ่านแล้วต้องรู้สึกแบบเดียวกันกับน้องบัดดี้แน่นอน ใช่ไหมคะ
อีกหนึ่งท่านที่มาร่วมแชร์เทคนิคดี ๆ ผู้ก่อตั้งเพจ Toolmorrow น้องบัดดี้ได้ฟัง พี่เสกข์ คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า อะไรคือตัวจุดประกาย ที่ทำให้คนทำสื่อทั่วไปในวันนั้น กลายมาเป็น คนสื่อเพื่อสังคมในวันนี้
พี่เสกข์ แชร์ว่า… “สื่อออนไลน์ เพจ Toolmorrow เริ่มจากอยากเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสื่อสารให้คนเห็นภาพ ให้ content มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป โดยพิสูจน์ผ่านการทำ Social Experiment ให้เห็น ทำให้เป็น viral ที่แสดงจุดยืนสังคมด้วย เราค้นพบว่าทุกครั้งที่คลิปมีคนดูจำนวนมาก แค่ Awareness หรือการรับรู้ ไม่เพียงพอแล้ว เราจึงขยับมาสู่ consideration คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง
ในโครงการ “คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน” เกี่ยวกับการอบรมผู้ปกครองให้สื่อสารเชิงบวกกับลูก ซึ่งได้รับรางวัล PM Award สื่อยุคใหม่คือให้ข้อมูลมากขึ้น ให้การเรียนรู้เพิ่มขึ้น และเชื่อมต่อคนที่จะช่วยเหลือได้ เรียกได้ว่าเป็นแบบ seamless เพราะพฤติกรรมของคนเกิดจาก mindset บางอย่าง เมื่อเราสั่นคลอนความเชื่อได้ ให้เขาเปิดใจยอมรับ โอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงก็จะมีมากขึ้น ซึ่ง Toolmorrow เป็นสื่อการเรียนรู้แบบหนึ่งที่สามารถนำไปเป็นหัวข้อเสวนาที่เป็นประโยชน์ในพื้นที่ได้”
พี่เสกข์ยังแชร์เทคนิคการทำงานผลิตสื่อที่โดนใจอีกด้วยว่า คุณสมบัติที่นักสื่อสารต้องมี คือ จับประเด็นเก่ง มีความเห็นอกเห็นใจคน และชอบทดสอบ อย่าด่วนสรุปว่าความคิดของเราเป็นสิ่งที่ดีต่อกลุ่มเป้าหมาย แต่ต้องสื่อสารให้คนกลุ่มนั้นมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ด้วยการขยายผลให้กลุ่มเป้าหมายเห็นผลด้วย เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ต้องหาตรงกลางให้ได้ว่า คนดูอยากดูอะไร แล้วเราจะสื่อสารอย่างไร เป็นเทคนิคการทำงานที่ต้องบอกเลยว่า มาจากประสบการณ์ล้วน ๆ เลยล่ะครับ
….สสส. ในฐานะองค์กรเพื่อสังคม ก็มีการผลิต “สื่อ” เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมาโดยตลอด สภส. มีความตั้งใจอย่างไรที่จะพัฒนางานสื่อสารเพื่อการสร้างสุขภาวะร่วมกับภาคีเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ ผอ. พี่กบ
มีคำตอบค่ะ
“สื่อสร้างสรรค์ ภาคีสร้างสุข” หมายถึงสื่อที่ดีนำไปสู่ 3 ประเด็นสำคัญ เรื่องแรกคือ สื่ออย่างไรให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตัวเอง ดูเหมือนง่ายแต่ยากมาก เรื่องที่สองคือการสื่อสารที่นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายที่ดีต่อสุขภาพ เพราะการทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดี จำเป็นต้องมีนโยบาย มีกฎหมายรองรับ
ซึ่งมีผลกระทบกับคนบางกลุ่ม เรื่องที่สาม คือ สื่อที่ดีต้องสานพลังภาคีเครือข่ายได้ เพราะการทำเรื่องสุขภาพ สังคม ทำคนเดียวไม่ได้
สื่อจะเป็นตัวกลางที่ดึงทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ดังนั้น การมีสื่อจะนำไปสู่ 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้สุขภาพดีขึ้น นำไปสู่การสร้างนโยบาย กฎหมาย กติกาสังคม ที่อยู่ร่วมกันได้ และนำไปสู่การสานพลังคนทำงานเรื่องเดียวกันให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน”
…สภส. เห็นความสำคัญของ “งานสื่อสาร” ในการผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะอย่างไร คำตอบข้อนี้ ขอสรุปสั้น ๆ ให้พี่ ๆ ภาคีเครือข่ายเข้าใจง่ายขึ้นค่ะ
พันธกิจของ สสส. มี 4 เรื่อง คือ จุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลัง เพื่อให้คนมีขีดความสามารถและสังคมที่ดี คำว่า “จุดประกาย” ก็ต้องใช้สื่อเพื่อสร้างให้เกิดความตระหนัก “กระตุ้น” คือการออกมาตรการ หรือรณรงค์ เพื่อกระตุ้นให้เปลี่ยนได้เร็วขึ้น “สาน” คืองาน สสส. ทำร่วมกันหลายภาคส่วน มีภาคีเครือข่าย สุดท้ายคือ “เสริมพลัง” ทำอย่างไรให้คนมีพฤติกรรมต่อไปได้
กิจกรรมนี้ สสส. ดำเนินการเรื่อง “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข” คือสานพลังระหว่างฝั่งนิเทศน์ สื่อสารมวลชน เข้ากับภาคีเครือข่ายของ สสส. เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ในรูปแบบของการสื่อสาร ที่นำไปสู่สื่อสารสุขภาพที่ดีของภาคีได้ชัดเจน นั่นคือสื่อสารสุข เพราะ สสส. นำไปสู่สุขภาพที่ดีใน 4 มิติ คือ กายที่ไม่เป็นโรค สุขภาพจิตที่ดี สุขภาพทางปัญญาที่ก่อให้เกิดการแยกแยะ การตรึกตรองและความรอบรู้ สุดท้ายคือ สุขภาพสังคม ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับเทคนิคการสื่อสารเพื่อสร้างสุขภาวะที่นำมาฝากกัน เชื่อว่าในบริบทโลกยุคใหม่ สื่อสร้างสรรค์ จะมีส่วนสำคัญมาก เป็นตัวแปรที่ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของผู้คนเพื่อการสร้างสุขภาวะที่ดีในอนาคตให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
ผลิตโดย เพจ นักสื่อสาร:ภาคี:สัมพันธ์
สนับสนุนโดย สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)