สานพลังภาคีสุขภาวะภาคเหนือ ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพจาก PM2.5 ผ่านกลไก “สภาลมหายใจ” ชูนวัตกรรม “FireD (ไฟดี)” ยกระดับชุมชนป้องกันไฟป่า คืนอากาศสะอาดสู่ประชาชน
วันนี้น้องบัดดี้ขอเสนอเรื่องราวของทางภาคเหนือครับ
นั่นก็คือ !!!!! พื้นที่ที่ต้องเจอกับวิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่ ฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง โดยมีต้นตอที่สำคัญมาจาก “ไฟป่า” และการเผาในภาคเกษตรกรรม
ภาคีสุขภาวะภาคเหนือของเราจะมีวิธีการจัดการปัญหา ทำงานเชื่อมประสานกันแบบไหน เกิดผลลัพธ์การทำงานอย่างไรบ้าง มาติดตามเรื่องราวไปพร้อม ๆ กันเลยครับ
……..
…….
..
สานพลังภาคีสุขภาวะภาคเหนือ ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพจาก PM2.5 ผ่านกลไก “สภาลมหายใจ” ควบคู่ไปกับการรักษา “ป่าต้นน้ำ” ชูนวัตกรรม FireD (ไฟดี) ยกระดับชุมชนป้องกันไฟป่า คืนอากาศสะอาดสู่ประชาชน
ด้วยสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศในเขตพื้นที่ภาคเหนือเป็นป่าไม้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี เป็นฤดูกาลที่เกิด “ไฟป่า” ภัยที่เกิดจากธรรมชาติในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉลี่ยในแต่ละปี ภาคเหนือเกิดไฟป่ากว่า 8 แสนไร่ ซึ่งนับเป็นจำนวนความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM2.5 ซึ่งหากติดตามข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ จะทราบดีว่า ในเขตพื้นที่ภาคเหนือมักเกิดไฟป่าและวิกฤตฝุ่น PM2.5 จนกลายเป็นฤดูกาลของมลพิษทางอากาศไปเสียแล้ว
แต่ทว่าสาเหตุของฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เกิดจากไฟป่าแต่เพียงอย่างเดียว อีกหนึ่งสาเหตุคือการเผาในที่โล่งจากภาคการเกษตรอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันจึงเป็นวิกฤตของสุขภาพที่ต้องเร่งแก้ไข ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อคืนลมหายใจที่สะอาดให้กับทุกคน ป้องกันไฟป่า รักษาป่าต้นน้ำ กลไกสำคัญ ที่ช่วยลดฝุ่นควันอย่างยั่งยืน
พี่เดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ผู้ขับเคลื่อนสุขภาวะด้วยการรักษาป่าต้นน้ำ ป้องกันไฟป่า ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เจ้าของรางวัลสุดภาคภูมิใจ VOV AWARD 2022 จาก สสส.
พี่เดโช บอกว่าปี ๆ หนึ่งภาคเหนือเกิดไฟป่ากว่า 8 แสนไร่ สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก ทั้งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและเกิดโดยฝีมือมนุษย์จากการเผาในพื้นที่ทำการเกษตร จากพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นวิกฤตที่ยากจะควบคุม แต่หลังจากที่มีการผลักดันให้มี “พ.ร.บ. ป่าชุมชน ปี พ.ศ. 2562 หรือที่เรียกกันให้เข้าใจง่ายว่า “พ.ร.บ. ป่าชุมชน” ทำให้การจัดการไฟป่าทำงานได้ง่ายขึ้น โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ที่เป็นจุดการไฟป่าที่เข้มแข็งกว่า 10 ตำบล 20 หมู่บ้าน เป็นชุมชนต้นแบบที่มีการทำแผนการจัดการไฟป่าอย่างชัดเจนด้วยพลังของชุมชน ชูนวัตกรรม “FireD (ไฟดี)” ป้องกันไฟป่า ลดการเผา เราทำได้ สร้างบรรทัดฐานใหม่สู่ภาคการเกษตร
ในส่วนของรณรงค์ลดการเผาในภาคเกษตรกรรมให้น้อยลง พี่เดโช บอกว่า
”การเผาในที่โล่งในภาคการเกษตรในอดีตเราควบคุมไม่ได้ ไม่มีการวางแผนการเผา ซึ่งเราไม่สามารถที่จะลดได้ในทันที ในส่วนของเชียงใหม่จัดการโดยผ่านนวัตกรรม “แอปพลิเคชัน FireD (ไฟดี)”
ที่จะช่วยบันทึกข้อมูลชุมชน ลดจุดความร้อน (Hotspot) และเปิดให้ชุมชนลงทะเบียนขออนุญาตเผาในพื้นที่เกษตร โดยการแจ้งพิกัดพื้นที่ที่ชัดเจน เพื่อจำกัดการเผาให้ลดลงตามความเหมาะสม รวมถึงให้ความรู้กับเกษตรกรถึงระบบการเกษตรที่ไม่จำเป็นต้องเผา ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องถูกผลักดันและพัฒนาต่อยอดต่อไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อช่วยกันลดปัญหาฝุ่นควันได้อีกทางหนึ่ง
ทำงานข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็น เห็นผลลัพธ์ใหม่ที่ชัดเจน สู่การสร้างรายได้จากป่าชุมชน
“การทำงานข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็นจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจาก สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) ซึ่งเข้ามาสนับสนุนกลไกการทำงานประเด็นการจัดการไฟป่าโดยชุมชน ใน 3 ส่วนหลัก คือ
1. เปิดพื้นที่เวที “โชว์ แชร์ เชื่อม” ที่ให้ภาคีได้แลกเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงาน การแก้ไขปัญหา ยกระดับให้การจัดการไฟป่าเป็น Agenda หรือวาระที่ต้องเกิดการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมของจังหวัด
2. ในแง่ของการสื่อสาร สภส. สนับสนุนแนวความคิด เสริมพลังความรู้ในการผลิต Content สื่อสารผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Forest Book เพื่อรณรงค์ให้สังคมเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้และหวงแหนรักษาไว้ คืนสมดุลให้ธรรมชาติ
3. การเชื่อมประสานภาคีทั้งในระดับพื้นที่ชุมชน ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับภาค สภส. ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยเชื่อมประสาน เชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคีในแบบของการข้ามภารกิจ จนเกิดผลลัพธ์การทำงานใหม่ และเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนใน 2 พื้นที่ ในระดับจังหวัด คือ จังหวัดพะเยา เกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการทำแผนการจัดการท่องเที่ยวในป่าชุมชน สามารถสร้างรายได้จากป่าชุมชน และในพื้นที่จังหวัดลำปาง เกิดการเชื่อมประสาน โดยมีภาคีจากภาคธุรกิจเข้ามาหนุนเสริม เชื่อมโยงให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจากป่าชุมชน ที่ได้ประโยชน์ทั้งคนและป่า