สสส.สานพลังภาคีเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง จัดเวที “โชว์ แชร์ เชื่อม ช่วย” จ.พิจิตร

สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สานพลังขับเคลื่อนงานสุขภาวะระหว่างภาคีเครือข่าย สสส. ร่วมทบทวนบทเรียนการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ของตนเอง ค้นหาพื้นที่ต้นแบบ และหาแนวทางเชื่อมร้อยการทำงานร่วมกันในอนาคต ผ่านเวที “โชว์ แชร์ เชื่อม ช่วย” เมื่อวันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมมีพรสวรรค์ อ.เมือง จ.พิจิตร และวัดบ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร
กลไกเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือตอนล่าง
 กลไกสนับสนุนภาคีเครือข่ายพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง สภส. ร่วมกับ มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร พัฒนากลไกในการประสานงานขับเคลื่อนกลไกเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง ภายใต้โครงการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือตอนล่าง เพื่อเกิดพื้นที่รูปธรรมการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายข้ามประเด็น  ข้ามพื้นที่กระบวนการขับเคลื่อนและเครื่องมือสนับสนุนการทำงานสุขภาวะของภาคเหนือตอนล่าง คือ
1.เวทีสัญจร ภายใต้ชื่อ “โชว์ แชร์ เชื่อม ช่วย” ประสานภาคีเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง โดยมีการหารือและวางเป้าหมายและแผนงานร่วมกันของแกนประสานจาก 8 จังหวัด โดยสัญจรเดินทางลงไปในพื้นที่ครบทั้ง 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง ร่วมขับเคลื่อนงานและทบทวนบทเรียนในพื้นที่ของตนเอง และทบทวนบทเรียนเรื่องราวการทำงานของแต่ละพื้นที่โดยอาศัยกระบวนการ 4 ช. โชว์ แชร์ เชื่อม ช่วย ได้แก่
โชว์ คือ เป็นการนำเสนอสิ่งดีๆ ที่มีการดำเนินงานในพื้นที่
แชร์ คือ เป็นการชื่นชม และสื่อสารส่งต่อสิ่งดีๆจากพื้นที่ออกสู่สาธารณะ
เชื่อม คือ เป็นการเชื่อมประสานเครือข่ายการทำงาน ทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่และเครือข่ายราชการที่เกี่ยวข้องในการหนุนเสริมซึ่งกันและกัน
ช่วย คือ เป็นการช่วยเหลือในสิ่งที่พื้นที่ขาด เพื่อนำไปต่อยอดสู่สิ่งใหม่ที่ดีขึ้น
2. กิจกรรมค้นหา 10 พื้นที่ต้นแบบใน 8 จังหวัด โดยให้แต่ละจังหวัดทบทวนการขับเคลื่อนงานของตนเอง และนำเสนอข้อมูลพื้นที่ต้นแบบ โดยยึดหลัก 3 ทำ คือ ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อเนื่อง จัดลำดับประเด็นที่มีความโดดเด่น และมีการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นไปตามลำดับ
ทิศทางการขับเคลื่อนงานกลไกภาคเหนือตอนล่าง
ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) สสส. กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนงานกลไกภาคเหนือตอนล่างว่า ผู้ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะควรรู้สถานการณ์ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่างที่เกิดขึ้น เพราะนี่คือปัญหาและความท้าทายทางสุขภาวะที่ภาคีกำลังเผชิ
ตัวชี้วัดการทำงานขับเคลื่อนสุขภาวะสามารถดูได้จากสถานการณ์อายุคาดเฉลี่ยของคนไทย  พบว่า อายุคาดเฉลี่ยผู้ชาย คือ 71.9 ปี อายุคาดเฉลี่ยผู้หญิง คือ79.7 ปี ขณะที่อายุคาดเฉลี่ยที่ปรับด้วยสุขภาพของประชากรไทย อายุเฉลี่ยผู้ชาย คือ 66.4 ปี และอายุเฉลี่ยผู้หญิง คือ 71.3 ปี  ทั้งนี้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พบว่าอายุเฉลี่ยของประชาชนไม่สูงมากนัก และจากข้อมูล 10 สถานการณ์สุขภาพจำแนกตามภาค ปี พ.ศ.2563 พบว่า พื้นที่ภาคเหนือมีอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และมะเร็ง รวมถึงอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร อัตราการฆ่าตัวตายสูง ข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า นี่คือปัญหาหลักในการสร้างเสริมสุขภาพที่ภาคีเครือข่ายภาคเหนือตอนล่างกำลังเผชิญอยู่ โดยเราต้องมองหามาตรการหรือวิธีป้องกันปัญหาสุขภาพเหล่านี้ร่วมกัน
ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายยุทธศาสตร์ของการทำงานสุขภาวะ ระยะ 10 ปี  สสส. ประกอบด้วย ยาสูบ สุราและสิ่งเสพติด อาหาร กิจกรรมทางกาย ความปลอดภัยทางถนน สุขภาพจิต มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่ นี่คือ สาเหตุที่ทำให้อายุเฉลี่ยของคนไทยลดลง
การทำฐานข้อมูลภาคีภาคเหนือตอนล่าง ให้ลองมองที่ปัจจัยกำหนดสุขภาพ โดยดูว่ามีเพื่อนภาคีกลุ่มไหนทำเรื่องอะไรอยู่ เพื่อให้เราสามารทำงานได้ครอบคลุมมากขึ้น
หาให้เจอว่าเพื่อนช่วยอะไร มีหน้าที่อย่างไรและนำไปสู่การทำงานด้วยกันได้อย่างไร
ทั้งนี้ นโยบายของ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. มองว่า ความสำเร็จอยู่ที่การมีการมีส่วนร่วมของชุมชน-องค์กร เราต้องอาศัยองค์กร-ชุมชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนและเกิดเป็นเจ้าของร่วม
และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สปสช. สช. เป็นต้น ในการกำหนดเป้าหมาย เพื่อยกระดับให้คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นและจะนำมาสู่การออกแบบกลไกภาคร่วมกัน
นอกจากนี้ สสส.ยังสานพลังร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้ว 19 แห่ง โดยหวังให้เกิดกองทุน สสส. ในระดับจังหวัด  ที่ชุมชนสามารถของบประมาณได้
จากการสร้างความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันทำงานในระดับพื้นที่ มีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ร่วมและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
สภส. จะร่วมสานพลังภาคีเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพภาคีให้พร้อมขับเคลื่อนงาน ภายใต้แนวคิด Together We Can หรือ ร่วมกันเราทำได้
โดยมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานภาคีสัมพันธ์ คือ พัฒนากลไกการเชื่อมประสาน พัฒนาระบบสนับสนุน พัฒนาระบบกลไกสื่อสาร และเปิดพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ดังนั้นทิศทางสำคัญในการเดินทางสู่สุขภาวะในอนาคต จึงให้ความสำคัญกับการสานพลังภาคีเครือข่าย สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน หนุนเสริมให้ชุมชน-พื้นที่สามารถจัดการตนเองได้ การขับเคลื่อนงานสามารถรองรับบริบททางสังคมที่หลากหลาย ภาคีมีการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีทักษะใหม่เพื่อรองรับปัญหาสุขภาวะใหม่ ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่  สามารถบริหารจัดการและใช้ข้อมูล เพื่อเพิ่มปัจจัยเชิงบวก ยับยั้งปัจจัยเชิงลบได้
เวทีฯ ครั้งนี้อยากให้ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสุขภาวะไปให้ถึงเป้าหมายของกลไกภาคเหนือตอนล่างและสามารถจัดการปัญหาสุขภาพของตัวเองได้
กลไกเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือตอนล่าง
วรารัตน์ หมวกยอด แกนนำจังหวัดพิจิตร ผู้รับผิดชอบโครงการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือตอนล่าง เล่าว่า
กลไกเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือตอนล่าง มีมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรเป็นแกนกลางในการประสานงานขับเคลื่อนกลไก ร่วมกับคีย์แมนแต่ละจังหวัด เรามีเป้าหมายร่วมกันทั้ง 8 จังหวัด คือพัฒนาตัวเราให้เป็นกลไกระดับภาค และเกิดกลไกของตัวเองขึ้นในแต่ละจังหวัด ด้านระบบจัดการที่สนับสนุนการทำงาน คือ 1.เกิดระบบการจัดการฐานข้อมูล ยกระดับการจัดการข้อมูลทุนศักยภาพของพื้นที่ นำมาสู่การพัฒนาเป็นระบบเทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารสาธารณะ 2.การจัดการความรู้ด้วยกระบวนการถอดบทเรียน 3.การสื่อสานงานในพื้นที่ ในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานระหว่างกัน 4.เปิดพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในรูปแบบ “โชว์ แชร์ เชื่อม ช่วย”
เวที “โชว์ แชร์ เชื่อม ช่วย” จ.พิจิตร เป็นกิจกรรมเวทีสัญจรที่ภาคีเครือข่ายสัญจรมาเป็นที่สุดท้าย ซึ่งภาคีเครือข่ายได้เรียนรู้ครบทุกประเด็น และเครือข่ายที่จะนำมาร่วมขับเคลื่อนงานต้องเป็นคน/องค์กร/หน่วยงาน ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคี นอกจากนี้เวทีครั้งนี้ภาคีเครือข่ายยังมีเป้าหมายและทิศทางร่วมกันที่ต้องกลับไปเคลื่อนงานต่อในพื้นที่ และยังเกิดภาคีเครือข่ายที่เชื่อมประเด็น เชื่อมพื้นที่ เช่น ขับเคลื่อนระบบรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประเด็นอาหารปลอดภัย เด็กและเยาวชน ซึ่งเห็นชัดเจนว่าใครอยากเคลื่อนงานประเด็นอะไร สามารถรวมกลุ่มการทำงานข้ามพื้นที่ได้
“เสียงจากภาคีเครือข่ายเข้าร่วมบอกเราว่า เวทีโชว์ แชร์ เชื่อม ช่วย เป็นพื้นที่เปิดที่ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนได้จริง กระบวนการที่ทำก่อเกิดความเป็นเพื่อนข้ามจังหวัด เกิดการประสานงานและแชร์ทรัพยากรได้จริง ไม่เพียงแค่ภาคีเครือข่าย สสส. เท่านั้นที่เข้าร่วม ยังมีภาคีหน่วยงานอื่นๆ เช่น สปสช. สช. พอช. ในพื้นที่เข้าร่วมด้วย และหลายองค์กรเกิดการเชื่อมงาน สามารถต่อยอดงานกันได้”
ฟังเสียงภาคีเครือข่าย สสส.
บุญธรรม  จ้อยสุดใจ โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับตำบลเพื่อรองรับสังคมสูงวัย อ.โพทะเล จ.พิจิตร

ในฐานะที่เป็นผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (care manager) ดูแลเรื่องผู้สูงอายุที่ติดบ้าน-ติดเตียง ต.วัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิตร พบว่า นับตั้งแต่ปี 2561 มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นปีละ 2-3% แต่ในปี 2567 มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 24% ที่มาพร้อมกับความเสื่อมโทรมและความเจ็บป่วยของร่างกาย มีโรคประจำตัว หรือเจ็บป่วยจากสภาพแวดล้อมในบ้านที่ไม่เหมาะสม เช่น พลัดตก หกล้มในบ้าน จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
ชุมชนวัดขวางขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุโดยแกนนำชุมชนคุณธรรมวัดขวาง เพื่อร่วมสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ขับเคลื่อนร่วมกับ รพสต. อบต. วัด ผู้นำชุมชน อสม. และผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยเตรียมคนวัยทำงานให้พร้อม มีสุขภาพดีตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปัญหาสุขภาพในวัยสูงอายุ
คณะทำงานกำหนดเป้าหมายทำกิจกรรมระดับชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันว่าสังคมสูงวัยเป็นสังคมของทุกคน คนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันก็ดูแลสุขภาพตัวเองคู่ไปด้วย โดยมีกลุ่มผู้สูงอายุสำรอง คือคนวัยทำงานที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่เป็นจิตอาสาที่ดูแลผู้สูงอายุ เป็นแกนหลักกิจกรรมที่พาผู้สูงอายุและคนวัยทำงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ให้ความรู้และทางเลือกในการกินอาหาร มีเครื่องมือวัดความเค็มในอาหาร
เนื่องจากในพื้นที่ประชาชนติดพฤติกรรมกินรสชาติเค็มจัดและหวานจัด อาหารบางอย่างส่งผลเสียกับสุขภาพ นำมาซึ่งความเจ็บป่วยมากมาย คณะทำงานได้กำหนดนโยบายในพื้นที่ ปี 2562-2563 ลงลึกในหมู่บ้าน ผู้นำชุมชนลงไปทำกิจกรรมทั้ง 8 หมู่บ้าน ไปร่วมคุยในเวทีประชุมประจำเดือน นำความรู้และเรื่องราวสุขภาพไปจัดกิจกรรม ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก ปรับอารมณ์ แนะนำวิธีออกกำลังกาย ให้ความรู้เรื่องการปรุงอาหาร เป็นต้น จากการการประเมินก่อนและหลังทำกิจกรรม พบว่า ผู้สูงอายุและประชาชนในพื้นที่ที่เป็นเบาหวาน ความดัน เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและตัวเลขความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน ความดันลดลง นับตั้งแต่ปี 2565 แนวโน้มผู้ป่วยก็ลดลง นอกจากนี้เรายังปรับเรื่องสภาพแวดล้อมในบ้านให้เอื้อต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น
“การเข้าร่วมเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม ช่วย จ.พิจิตร ได้เห็นการริเริ่มที่จะออกแบบกลไกและระบบสนับสนุนการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดและระดับภาคที่ชัดเจนขึ้น โดยมีแนวโน้มที่จะใช้ประเด็นการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยเป็นประเด็นร่วม ให้เกิดการเชื่อมร้อยร่วมกับประเด็นอื่นๆ เช่น การจัดการหรือการเตรียมการที่จะจัดพื้นที่ของตัวเองให้รองรับสังคมสูงวัย และหลายๆ พื้นที่เห็นช่องทางที่บางพื้นที่ดำเนินการไปแล้วจนประสบความสำเร็จ เขาก็สามารถแลกเปลี่ยนกันจนสามารถทำงานต่อได้เลยโดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ เช่น การแบ่งปันสื่อเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ ที่พื้นที่ต่างๆ สามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ และทำให้ภาคีเครือข่ายสามารถขยายงานได้เพิ่มมากขึ้น”
Shares:
QR Code :
QR Code