สสส.ผนึกกำลังองค์กรยุทธศาสตร์สุขภาพไทย-สิงคโปร์ ร่มแลกเปลี่ยน พัฒนาศักยภาพและนวัตกรรมป้องกัน NCDs มุ่งขับเคลื่อนสร้างสังคมไทยสู่สังคมสุขภาวะ

#ภาคีมีเรื่อง(เล่า)

รู้ไหมครับว่า สาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรโลกและประเทศไทย มาจากสาเหตุอะไร?…

8 ใน 10 ของโรคที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายมากที่สุดในประเทศไทยคือโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั่นเอง สาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 4 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้เกิดความสูญเสีย 2.2% ของ GDP ต่อปีเลยทีเดียว (ข้อมูลจาก : รายงานการเดินทางไปพัฒนาศักยภาพและปฏิบัติงานต่างประเทศ Thailand and Singapore Exchange Visit on NCDs Prevention and Control ณ ประเทศสิงคโปร์) ฟังดูตัวเลขแล้วน่าตกใจใช่ไหมล่ะครับ

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว สสส. เกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นสุขภาพประเด็นนี้ น้องบัดดี้จะไขข้อข้องใจ
คลายความสงสัยให้กับทุกคนแบบเข้าใจง่ายขึ้นครับ 

 การสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงในทุกมิติ นอกจากการส่งเสริมให้ประชาชนลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงสุขภาพจากเหล้า บุหรี่ แล้ว การลดอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรค NCDs เป็นภารกิจสำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนร่วมกันมาโดยตลอด เพราะว่าโรค NDCs นั้นเปรียบเสมือน “ฆาตกรเงียบ” ที่คร่าชีวิตคนไทยปี ๆ หนึ่ง ไม่น้อยเลยทีเดียว และสาเหตุของการเกิดโรค NCDs ก็ไม่ได้มาจากไหนไกลเลยครับ เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มมากเกินไป บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ พฤติกรรมเหล่านี้เรียกว่า พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ 

ตลอดระยะเวลา 22 ปี ที่ผ่านมา สสส. รณรงค์ขับเคลื่อนให้คนไทยลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม ลดปัจจัยเสี่ยงจากเหล้า บุหรี่ ส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง สนับสนุนให้คนไทยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีในทุกมิติ ผ่านการรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ อย่างถูกต้อง ภายใต้แนวคิด “ป้องกันก่อนรักษา” ตั้งแต่ระดับประชาชน ชุมชน องค์กร หน่วยงาน ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิต กระตุ้นเตือน กระตุกความคิดสังคมให้ตระหนักถึงภัยของโรค NCDs ผ่านสื่อสุขภาวะสร้างสรรค์ที่เข้าถึงได้ทุกกลุ่มวัย ชวนคนไทยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในวิถีใหม่ สร้างค่านิยมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี

เป็นโอกาสที่ดีของ สสส. ประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับ สสส. และกระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมและกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของไทยและสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานในประเทศไทยที่รับผิดชอบด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในหัวข้อ NCD Prevention and Control (Thailand and Singapore Exchange Visit on NCD Prevention and Control) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ อาทิ มาตรการและนวัตกรรมเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ระบบสุขภาพของประเทศสิงคโปร์ โครงการ Healthier SG การทำงานหลายภาคส่วน (multi-sectoral approaches) ยุทธศาสตร์ด้านอาหารเพื่อสุขภาพและโรคอ้วนของไทย ซึ่งงานนี้ ส่วนงานวิเทศสัมพันธ์ ของสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) เป็นส่วนงานที่ดูแลการสร้างเสริมสุขภาพในภาคต่างประเทศ ได้นำทีม สสส. เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจที่ สสส. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในระดับภูมิภาคครั้งนี้ มีความน่าสนใจหลายประเด็น น้องบัดดี้ขอสรุปอย่างเข้าใจง่าย ดังนี้ครับ 

สสส. มีบทบาทเป็น Platform ทำหน้าที่กระตุ้น สานและเสริมพลังการทำงานของ Health Promoter ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศ มีเป้าหมายการทำงานสร้างเสริมสุขภาพแบบ Population / Result-based Intervention มีการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ตามยุทธศาสตร์ไตรพลัง ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม 

โดยมีสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) ที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่สนับสนุน เชื่อมประสานภาคีเครือข่ายให้มีการทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน สนับสนุนกลไกวิชาการ การพัฒนาระบบฐานข้อมูล ส่งเสริมการสื่อสารในรูปแบบที่ทันสมัยให้ภาคีเครือข่ายสามารถทำงานแบบข้ามพื้นที่ ข้ามประเด็นได้ ภายในแนวคิด “Together We Can ร่วมกันเราทำได้” โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ คนไทยมีสุขภาพที่ดี

สสส. ทำงานผ่านกลไกการขับเคลื่อนงาน NCDs 4-quadrant The 4-quadrant partnership model for NCDs prevention and control) โดยมี Core Team NCDs ซึ่งเป็นวง Improvement ที่ไม่เป็นทางการ มีบทบาทในการหารือทางด้านวิชาการ และสนับสนุนข้อมูลวิชาการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ให้กับทุกภาคส่วน ทั้งวง Implementation ที่เป็นทางการมีบทบาทในการผลักดันเชิงนโยบาย ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงต่าง ๆ 

การทำงานของ สสส. จะมีการทำงานในรูปแบบ “Enabler Model” ซึ่งไม่ได้เป็นการออกร่างกฎหมายหรือออกกฎข้อบังคับโดยตรง แต่จะใช้วิธีการขับเคลื่อนการทำงานโดยชุมชนแบบ Bottom Up
เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้จริง 

นอกจากนี้ สสส. ยังเน้นการทำงานเชิงรณรงค์ผ่านแคมเปญสำคัญมากมาย จะเห็นได้จากแคมเปญ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ถือเป็นแคมเปญสำคัญในการปรับแนวคิดและพฤติกรรมการให้ของขวัญเป็นเหล้าของคนไทยเปลี่ยนไป พฤติกรรมการมอบเหล้าเป็นของขวัญในวันปีใหม่มีจำนวนลดลงไปมาก และแคมเปญ
“งดเหล้าเข้าพรรษา” ที่ สสส. ริเริ่มมาตั้งแต่จัดตั้งกองทุนฯ ขึ้น จากแคมเปญดังกล่าว ทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในแต่ละปีมีผู้ที่งดเหล้าในช่วงเข้าพรรษามีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี และมีผู้ที่สามารถเลิกเหล้าได้อย่างถาวรเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

การประชุมในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเท่านั้น แต่ยังทำให้ สสส. ได้มุมมองใหม่ ๆ แนวทางการพัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
มีประเด็นไหนบ้าง มาดูกันครับ

สิ่งที่ สสส. ประเทศไทยได้เรียนรู้ในระบบงานสร้างเสริมสุขภาพของสิงคโปร์ คือ 1. เรียนรู้วีธีปรับปรุงการผสมผสานระหว่าง board-based และ targeted interventions เน้นการทำงานในพื้นที่เป้าหมายหลัก 2.พัฒนาฐานข้อมูลและแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น (เน้นการเข้าถึงและใช้งานง่าย ผสานรวมกับ แพลตฟอร์มอื่นที่เกี่ยวข้อง) 

3.นำแนวคิด Healthier SG แพลตฟอร์มสร้างเสริมสุขภาพของสิงคโปร์มาปรับใช้สำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศไทย 4.นำตัวชี้วัดไปติดตามความคืบหน้าและผลลัพธ์ใน Chain of Outcome (CoO) ของ สสส. และ 5. มีโอกาสในการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อในประเทศสิงคโปร์ เพื่อร่วมพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพในระดับภูมิภาคต่อไป (ข้อมูลจาก : รายงานการเดินทางไปพัฒนาศักยภาพและปฏิบัติงานต่างประเทศ Thailand and Singapore Exchange Visit on NCDs Prevention and Control ณ ประเทศสิงคโปร์)

การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับประเทศสิงคโปร์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญ ที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษที่ 3 ของ สสส. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังคงมุ่งมั่น เดินหน้า จุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลังภาคีเครือข่ายให้มีความเข้มแข็ง 

เป็น Core Team ที่สำคัญเพื่อร่วมขับเคลื่อนและรณรงค์ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการการใช้ชีวิต สร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมไทยได้ตระหนักและหันมาป้องกันการเกิดโรค NCDs ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ผ่านช่องทางดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เข้าถึง เข้าใจง่าย พร้อมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทย สร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งสุขภาวะที่ดีในอนาคต

 

Shares:
QR Code :
QR Code