สสส.จัดเวทีแรกพบเพื่อนใหม่ เสริมพลังภาคีเครือข่าย เชื่อมประเด็น เชื่อมพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ
สสส. โดยสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) จัดเวทีแรกพบเพื่อนใหม่ เมื่อวันที่ 15-16 ส.ค.2567 ณ อาคารเรียนรู้สุขภาวะ สสส. เพื่อสานและเสริมพลังภาคีเครือข่ายทุกสำนัก เชื่อมประสานภาคีเครือข่าย ให้รู้จักกัน เข้าใจวิธีการทำงานสร้างเสริมสุขภาพตามบทบาทของ สสส. ซึ่งเป็นการหนุนเสริมยกระดับการทำงาน ให้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนงาน เพราะการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ต้องอาศัยองคาพยพจากหลายภาคส่วน
เป้าหมายสูงสุดของการทำงานสุขภาวะ คือ อยากให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ 7 +1 ประกอบด้วย ยาสูบ สุราและสิ่งเสพติด อาหาร กิจกรรมทางกาย ความปลอดภัยทางถนน สุขภาพจิต มลพิษจากสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่ โดยคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ให้คนไทยเข้าถึงองค์ความรู้และการดูและสุขภาพสู่การมีสุขภาพที่ดี โดยดำเนินงานผ่าน 15 แผนงาน
รู้จักสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.)
สภส. เป็นส่วนหนึ่งในแผน 13 หรือ แผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทำหน้าที่พัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนในการสานพลังภาคีเครือข่ายทุกสำนักให้มารู้จักกัน หนุนเสริมศักยภาพและยกระดับการทำงาน สานพลังภาคีเครือข่ายและเสริมศักยภาพภาคีให้พร้อมที่จะทำงานได้ ภายใต้แนวคิด Together We Can หรือ ร่วมกันเราทำได้ “ร่วมกัน” คือ เปิดพื้นที่และเวทีให้ภาคีเครือข่ายแต่ละจังหวัดและทุกประเด็นที่ทำงานสุขภาวะเกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงาน “เรา” คือ ภาคี สสส. มีบทบาทที่ต้องทำร่วมกันเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี สนับสนุนกระบวนการทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น “ทำได้” คือ สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายมีขีดความสามารถ ความรู้ ที่สามารถยกระดับงานตัวเองอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานภาคีสัมพันธ์ “สานงานเสริมพลังภาคีเครือข่าย” มี 4 ด้าน คือ 1.พัฒนากลไกเชื่อมประสานภาคีเครือข่าย 2.เปิดพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3.พัฒนาระบบสนับสนุน และ 4.พัฒนาระบบกกไก/สื่อสาร โดย สภส.มีเวทีเวทีกลไกภูมิภาค 4 ภาค 5 กลไก โดยทำงานร่วมกับกลไกภูมิภาค สานพลังภาคีเครือข่ายให้รู้จักกันในพื้นที่ พัฒนาประเด็นสุขภาพในพื้นที่ เสริมสมรรถนะภาคีเครือข่ายให้รองรับเกี่ยวกับโลกยุคใหม่ ฝึกอบรมการบริหารจัดการโครงการให้เข้าใจระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น การเงิน บัญชี พัสดุ ไอที เป็นต้น รวมถึงมีเวทีเปิดพื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมพลังภาคีเครือข่าย เห็นงาน เห็นคน เช่น เวทีแรกพบเพื่อนใหม่เสำหรับภาคีรับทุนหน้าใหม่ เวทีแชร์ สร้าง สุข สำหรับภาคีเชิงยุทธศสาตร์ และเวทีโชว์แชร์เชื่อม สำหรับภาคีขับเคลื่อนในพื้นที่
ขณะที่งานด้านวิเทศสัมพันธ์ คือการสร้างความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์นานาชาติ พัฒนาและจัดการชุดความรู้ เพื่อเผยแพร่ทำงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ในเวทีโลก พัฒนาศักยภาพ ในด้านต่างประเทศ โดยมีกลไกการทำงานกับหลากหลายองค์กรในประเทศและต่างประเทศ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่าย รวมถึงสร้างการรับรู้และการยอมรับบนเวทีโลก
ภาคีเครือข่ายเสมือนกองทัพสำคัญด้านสุขภาพ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต้อนรับภาคีเครือข่ายพร้อมแสดงวิสัยทัศน์ว่า สสส.เป็นองค์กรที่นำภาคประชาชน ประชาสังคม และทุกภาคส่วนมาร่วมเป็น “นักรบด้านสุขภาพ” ดังนั้นภาคีเครือข่าย จึงเปรียบเสมือนกองทัพสำคัญด้านสุขภาพ เป็นเพื่อนร่วมรบในการสร้างเสริมสุขภาพ สงครามสุขภาพที่เป็นอยู่ยากเกินกว่าที่ภาครัฐเพียงภาคส่วนเดียวจะเข้าไปจัดการได้ พวกเราเป็นนักรบที่ร่วมกันทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น
สังคมยุคก่อนเป็นระบบบริการสุขภาพที่พึ่งพาแพทย์ ยุคต่อมาเกิดจากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป กินหวาน มัน เค็ม เกินอัตรา จนเกิดโรคต่างๆ และก็กลับไปพึ่งพาแพทย์เช่นเดิม สสส.ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยถูกวางบทบาทให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งการจะเปลี่ยนได้นั้นต้องอาศัยภาคีเครือข่ายร่วมเปลี่ยนสังคม โดยใช้ความเข้าใจพฤติกรรมและสร้างระบบนิเวศน์ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการกระทำให้เป็นวินัยจนกลายเป็นนิสัย
หัวใจของการทำงาน สสส. คือ “การทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ดึงทุกคนมาเป็นเจ้าของปัญหาสุขภาพทั้งหมด เพราะสงครามเชื้อโรคยุคที่ 3 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ เกิดภาวะสังคมป่วย คนป่วยมากขึ้น ปัญหาสุขภาวะซับซ้อนเกินกว่าที่ใครคนเดียว หรือหน่วยงานเดียวจะจัดการได้ ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันทุกภาคส่วน
วิสัยทัศน์ของ สสส. ประกาศชัดเจนว่า “ทุกคนบนแผ่นดินไทย มีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี” โดย สสส.มียุทธศาสตร์การทำงานที่ตั้งอยู่บนฐานของการบูรณาการ “สานสามพลัง” หรือ “ไตรพลัง” ได้แก่ “พลังปัญญา พลังนโยบาย และพลังสังคม” เพราะเราเชื่อว่าถ้าทุกภาคส่วนร่วมกันสานพลังและมุ่งเป้าแบบเดียวกันก็จะสามารถสร้างสังคมสุขภาวะได้สำเร็จ
ยุทธศาสตร์ที่จะเดินต่อไปของผู้จัดการกองทุน สสส.
ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. วางยุทธศาสตร์เดินไปในทิศทางต่างๆ แต่มีเป้าหมายเดียวกันที่จะทำ ให้คนไทยมีอายุค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้น เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง และโรคอื่นๆ รวมถึงสถานการณ์โควิด19 ทำให้ทุนชีวิตคนไทยลดลงและทำให้ชีวิตคนไทยหายไป เพราะมีหลากหลายปัจจัยที่ทำลายสุขภาพ เช่นภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง กินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น ดังนั้น สสส.จะขับเคลื่อนในพื้นที่ทำให้จังหวัดที่มีอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยของอายุที่ดีขึ้น และลดสาเหตุการตายของประชากรด้วยการขับเคลื่อนรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
นอกจากนี้ยังสานพลังร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 16 แห่ง โดยหวังให้เกิดกองทุน สสส. ย่อย หรือ สสส.น้อย ระดับจังหวัด ที่ชุมชนสามารถของบประมาณได้ และภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ร่วม และขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
คาดหวังว่าให้ภาคี สสส. ร่วมกันเดินทางก้าวสู่ปีที่ 24 ของ สสส.ด้วยกัน เพราะภาคี คือ หุ้นส่วนและนักรบที่สำคัญในการทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเราคาดหวังให้การขับเคลื่อนงานสุขภาวะสำเร็จและร่วมเดินทางไปด้วยกัน
ภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานสุขภาวะ 2 เรื่องใหญ่ คือ พฤติกรรมคนและสภาพแวดล้อม
ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. (สภส.) กล่าวถึงสถานการณ์ของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพว่า ปัจจุบันงานสร้างเสริมสุขภาพซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งในประเทศหรือโลกที่เปลี่ยนไป ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพจะทับซ้อนกันอยู่ตั้งแต่ระดับบุคคล พฤติกรรมตนเอง ปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม ไปจนถึงระบบนิเวศโลกที่ส่งผลต่อสุขภาพคนไทยโดยอัตโนมัติ
ปัจจัยเสี่ยง (GLOBAL RISKS) ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละปี เราเห็นแนวโน้มของสิ่งที่เป็นความเสี่ยงคือ ภูมิศาสตร์โลก อุณหภูมิโลกเปลี่ยน เศรษฐกิจโลก เด็กเกิดใหม่น้อย ในขณะที่ผู้สูงอายุเยอะ นำมาสู่ประชากรหดตัว ขณะที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยและจะกลายเป็นสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้
แม้ว่าประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี ทำให้คนอายุยืน แต่ถ้าปัจจัยอื่นไม่ดี เช่น เศรษฐกิจ การเงิน ก็ส่งผลต่อการเสียชีวิตคนไทยได้เช่นกัน จากผลสำรวจพบว่าประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs มากที่สุด 73.1% รองลงมาจากอุบัติเหตุจากถนน 17.8% และโรคติดเชื้อ 9% สสส.ได้ขับเคลื่อนประเด็นโรค NCDs รวมถึงอุบัติเหตุอย่างเข้มข้น เนื่องจากเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ความท้าทายของการสร้างเสริมสุขภาพ สิ่งที่ภาคีเครือข่ายต้องเจอ คือ การสร้างสุขภาพ โดยขับเคลื่อน 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.พฤติกรรมคน 2.สภาพแวดล้อม ภาคีทุกภาคส่วนจะทำงานภายใต้กรอบการขับเคลื่อนนี้ แม้ว่างานสร้างเสริมสุขภาพจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่นี่คือความท้าทายของภาคีเครือข่ายที่จะทำให้คนไทยเกิดสุขภาพดีครบ 4 มิติ โดยร่วมกับขับเคลื่อนงานไปด้วยกันทุกภาคส่วน
เสียงสะท้อนจากภาคีเครือข่ายในเวทีแรกพบเพื่อนใหม่
อรวรรณ์ ดวงดี โครงการหน่วยจัดการระดับจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อการพัฒนาและสร้างเสริมสุขภาพระดับพื้นที่ สำนัก 6 สสส.
ในฐานะภาคีเครือข่าย เราควรใช้เงินกองทุนสร้างเสริมสุขภาพอย่างคุ้มค่า โดยต้องร่วมกันเปลี่ยนวิธีคิด พฤติกรรม หรือสภาพแวดล้อมของคนในชุมชนให้ได้ เพื่อสร้างเสริมการมีสุขภาพที่ดี
“งบประมาณ เป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ เราไม่ได้มองไปที่งบประมาณแล้วคิดว่าตัวเองต้องได้อะไร แต่ควรทำให้คนในพื้นที่เข้าใจเรื่องบทบาทของกองทุน เราไปช่วยกันทำให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี และงบประมาณเป็นเครื่องมือให้เราเรียนรู้การเป็นเจ้าของสุขภาพที่ดีด้วยตัวเอง พร้อมกับสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง”
ชยุต จินตรัศมี โครงการหุ้นส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สำนัก 7 สสส.
“ทำงานร่วมกับ สสส.ในฐานะภาคีเครือข่ายกว่า 10 ปี ในเรื่องการจ้างงานคนพิการ วันนี้ได้เข้าร่วมเวทีแรกพบเพื่อนใหม่เป็นครั้งแรก ได้พบเพื่อนภาคีที่ทำงานหลากหลายประเด็นเยอะมาก เห็นภาพว่าการที่ สสส. ได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายมีประโยชน์มากในหลากแง่หลายมุม ซึ่งครอบคลุมทุกมิติของสุขภาวะ นี่คือโอกาสที่ดีที่จะได้รู้ว่าใครทำอะไร และถือโอกาสเชื่อมร้อยภาคีอีกด้วย”
ผศ.พ.ต.ท.ภูธร พุกะทรัพย์ โครงการนวัตกรรมในการวิเคราะห์ติดตามโรคและความเครียดเพื่อสร้างเสริมสุขภาพตำรวจอย่างยั่งยืน สำนัก 8 สสส.
ตำรวจ คือกลุ่มคนติดอาวุธและบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นคือ การละเลยในการดูแลตัวเอง และความเครียดก็เป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้นๆ ของตำรวจ
“ก่อนหน้าที่จะดำเนินโครงการนวัตกรรมในการวิเคราะห์ติดตามโรคและความเครียดเพื่อสร้างเสริมสุขภาพตำรวจอย่างยั่งยืน เราได้ทำโครงการส่งเสริมสุขภาพของตำรวจ ภายใต้สำนัก 8 เช่นกัน และครั้งนี้คือการต่อยอดจากโครงการเดิม เราพบว่า ตำรวจมีปัญหาสุขภาพจิตและส่งผลกระทบกับสังคมจึงอยากสร้างความตระหนักให้และกระตุ้นเตือนให้รักสุขภาพและเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง ตำรวจคือองค์กรใหญ่ที่ส่งผลกับสังคมสูง หากเรายังบิดเบี้ยวหรือสุขภาพไม่ดีก็จะส่งผลกับการทำงานและทำให้สังคมแย่ไปด้วย จึงอยากให้ตำรวจทุกคนหันกลับมาเริ่มดูแลสุขภาพตัวเอง เวทีแรกพบเพื่อนใหม่เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมและประทับใจในมิติที่เครือข่าย สสส. ทำงานที่หลากหลาย ได้เห็นว่างานบางส่วนเราสามารถเชื่อมประเด็นร่วมกันได้ โดยอนาคตอาจจะได้ร่วมงานกับภาคีอื่นๆ”