สสส. กับการสร้างเสริมสุขภาพจิต

ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสุขภาพจิตใจ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรโลก กว่า 450 ล้านคน พบปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่พบบ่อย มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกถึง 1 ใน 4 หรือจำนวน 450 ล้านคน มีปัญหาจิตเวชในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ปัญหาสุขภาพจิตนั้นเกิดผลกระทบต่อความสามารถการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมในสังคมและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในส่วนของประเทศไทย กลุ่มอายุช่วงวัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุมีโอกาสเผชิญปัญหาทางสุขภาพจิตค่อนข้างสูง

แต่เนื่องจากปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอยู่มากที่ส่งผลกระทบต่อทั้งพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน (Digital disruption) ส่งผลต่อวิถีชีวิต และทัศนคติ สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับความท้ายทายจากภัยเงียบ คือ ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

 

สสส. กับการการทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิตให้กับคนไทย…

สุขภาพจิต Mental Health  หมายถึง สภาพที่ดีของจิตใจที่สามารถควบคุมอารมณ์มิให้เกิดความคับข้องใจหรือขัดแย้งภายในจิตใจ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข หรือมีสภาพจิตใจที่เป็นสุข สามารถทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ และสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ โดยสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายเชื่อมโยงกัน หากพื้นฐานสุขภาพจิตไม่ดีจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของสภาพร่างกายที่ป่วยเรื้อรัง สุขภาพจิตยังเชื่อมโยงกับการบริโภคยาสูบ สารเสพติด และสุรา สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพได้ทั้งในระดับบุคคล และความรุนแรงในครอบครัว

สสส. ได้กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดจุดเน้นและขอบเขตการการสร้างเสริมสุขภาพจิต (Mental Health Promotion) หมายถึง การดำเนินงานที่เน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดี หรือกลุ่มคนทั่วไปให้มีอยู่อย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมและสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตดี

การสร้างเสริมสุขภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี มีการดำเนินงานที่ส่งผลสำคัญต่อตัวกำหนดสุขภาพ โดยแบ่งเป็น 7 เป้าหมายหลัก และเป็นเป้าหมายที่รองรับต่อปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า รวมเป็น 8 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดผลลัพธ์ คือ ประชาชนมีสุขภาพดี

การสร้างเสริมสุขภาพจิต เป็น 1 ใน เป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์นี้ โดยเป้าหมายนี้ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนผู้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ มีจุดประสงค์เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาพจิตควบคู่ไปกับการสร้างเสริมสุขภาพทางกาย และมีขอบเขตการดำเนินงาน คือ 1. การเพิ่มสัดส่วนผู้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ในกลุ่มเสี่ยง และ 2. การพัฒนาสุขภาพจิตในกลุ่มพื้นที่เสี่ยง

 

สร้าง นำ ซ่อม สร้างเสริมสุขภาพจิต

เพื่อคนไทยมีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข อยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่า

สสส. โดยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) ได้ร่วมสนับสนุนนโยบายหลักของประเทศ คือ พ.ร.บ. สุขภาพจิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองประชาชนให้ได้รับการสร้างเสริมสุขภาพจิต และป้องกันเพื่อควบคุมปัจจัยคุกคามสุขภาพจิต รวมทั้งสอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ให้คนไทยมีปัญญาดี อารมณ์ดี และมีความสุข อยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่า

 

ประยุกต์แนวคิดตามกฎบัตรออตตาวาในการกำหนดยุทธศาสตร์…

การสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ครอบคลุม ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันและมีความเข้มแข็งทางจิตใจ (resilience) ในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน มุ่งเน้นการสาน เสริมพลัง ทำงานผ่านกลไกข้ามพื้นที่ เชื่อมประสานประเด็นสุขภาพจิตร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่ง เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประชาชนมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเข้ากับชีวิตวิถีใหม่ โดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดตามกฎบัตรออตตาวา ในการกำหนดยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การเสริมศักยภาพชุมชนเข้มแข็ง 2. การพัฒนานโยบายสาธารณะ 3. การปรับเปลี่ยนเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม 4. การเพิ่มขีดความสามารถบุคคลเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีชีวิต 5. การพัฒนาระบบริการสุขภาพ

นอกจากนี้ สสส. ยังได้เชื่อมประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ในการจัดตั้ง สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต Thailand Institute For Mental Health Sustainability (TIMS) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพทางจิตอย่างยั่งยืนของประชาชนไทยและสังคมไทย และได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยส่งเสริมสุขภาพอาเซียน (ASEAN University Network-Health Promotion Network หรือ AUN-HPN) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เพื่อขยายเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ Healthy University ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อสานพลังร่วมกันสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชากรในทุกมิติของชีวิต

สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพจิตอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ทั้งเด็ก พ่อแม่ และผู้ปกครอง ผ่านการทำงานของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) โดยมีนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ร่วมพัฒนากับภาคีเครือข่าย เช่น หลักสูตรออนไลน์สอนปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก Net Pa Ma  https://www.netpama.com/ image.png หรือ HOOK E-Leaning หลักสูตรออนไลน์ ที่คัดสรรประเด็นสาระน่ารู้เชิงลึกและร่วมสมัยเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ถ่ายทอดโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมแบบฝึกหัดและอินโฟกราฟิกที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้

ในส่วนของนักเรียน นักศึกษา สสส. สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจิต โดยการขับเคลื่อนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. (สำนัก 8) ผ่านศูนย์บริการทางจิตวิทยาและการปรึกษาสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TCAPS) และโครงการมหาวิทยาลัยสุขภาวะดีแหงอนาคต” (Future Wellness University)

การสร้างเสริมสุขภาพจิต ไม่ได้เป็นเพียงภารกิจของใครคนใดคนหนึ่ง สสส. มุ่งมั่นและเดินหน้าสานพลัง เชื่อมประสานภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนการเชื่อมประเด็นการทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิต เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต หนุนเสริมนโยบายสาธารณะ สร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก  โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่ว่า ประชากรทุกคน มีสุขภาพจิตที่ดีอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code
แท็ก IRHIGHLIGHT