ภาคีภาคอีสาน บูรณาการ “สุขเป็น โมเดล” สร้างทักษะดูแลใจเชิงบวก ขยายผลสู่ผู้ต้องขังเรือนจำกลาง อุดรธานี

 

“ประเด็นสุขภาพจิต ไม่เพียงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอีสาน แต่เกิดขึ้นทั้งประเทศ รวมถึงทั่วโลกก็ให้ความสนใจเรื่องนี้เช่นกันค่ะ” อ.ลัม – คุณวชิรญาณ์ ขาวจุ้ย โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ผู้ประสานงานประเด็นสุขภาพจิต โครงการสานสุขไทอีสาน เล่าจุดเริ่มต้นของการดำเนินโครงการด้านสุขภาพจิต ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นขับเคลื่อนงานของโครงการสานสุขไทอีสาน

โครงการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคอีสาน (โครงการสานสุขไทอีสาน) ภายใต้สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) สสส. ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยนครพนม ในการพัฒนากลไกสนับสนุนการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคอีสานที่หลากหลายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานร่วมกันในลักษณะข้ามประเด็นข้ามพื้นที่ โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งมีประเด็นสุขภาพจิตเป็นประเด็นหนึ่งที่ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ภาคีอีสานให้ความสำคัญ

การส่งเสริมสุขภาพจิตไม่เพียงแต่จะเป็นงานที่ขับเคลื่อนในพื้นที่ หรือประเทศเท่านั้น เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2567 นี้เอง ได้เปิดตัวกรอบยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและสมองแบบบูรณาการ โดยเน้นการจัดการปัญหาสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดในระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงการสร้างความตระหนักและลดการตีตราในสังคม

“ประเด็นสุขภาพจิตเป็นน้องใหม่ที่กำลังขับเคลื่อนในปี 2567 ค่ะ เรามองว่าปัญหาสุขภาพจิตนั้นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกได้สร้างความตะหนัก ในภาคอีสานก็เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในยุคสมัยใหม่

ในปี 2567 เราเริ่มหาภาคีเครือข่าย จากเวที โชว์ แชร์ เชื่อม พื้นที่กลางที่ทาง สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) ร่วมกับ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สสส. ได้จัดให้กับภาคีเครือข่าย ในเวทีนี้เองได้พบกับ นายชูไชย นิจไตรรัตน์ (พี่ตุ้ม) รองผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานกับสำนัก 2 ได้แชร์ โมเดล “สุขเป็น” ที่สร้างแกนนำสื่อสารจิตวิทยาเชิงบวก สร้างสิ่งแวดล้อมเชิงบวก เพิ่มโอกาสการรับฟัง และกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างสุขอย่างง่าย” อ.ลัม เล่า

จากการแชร์โมเดล “สุขเป็น” ในเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม ภาคอีสานครั้งนั้น อ.ลัม ได้เชื่อมประสานเพื่อนภาคี ที่ร่วมทำงานขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพจิตในภาคอีสาน ราว 30 คน ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ และนำโมเดลสุขเป็นมาประยุกต์ใช้ต่อ หนึ่งในการร่วมสานพลังและขยายผล คือ อ.ป้อม – ผศ. มัทนียา กายแก้ว อาจารย์สอนจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ มภร.อุดรธานี ได้นำโมเดลสุขเป็นไปขยายผลที่เรือนจำกลาง อุดรธานี และอีกหลายที่

ในพื้นที่ที่อบอวลไปด้วยความเครียด อย่างเรือนจำกลาง อุดรธานี คุณทิพย์ดาริน จันทรวิเชียร นักจิตวิทยา เรือนจำกลาง จ.อุดรธานี ก็ได้นำโมเดลสุขเป็นมาจัดกิจกรรมและขับเคลื่อนงานด้านจิตวิทยาในเรือนจำ โดยเป็นวิทยากรร่วมกับ อ.ป้อม – ผศ. มัทนียา

“ในเรือนจำมีผู้ต้องขังราว 4,000 คน ซึ่งเดิมทีมีนักจิตวิทยาเพียง 1 คน และต่อมาเปิดรับเพิ่มเติมอีก 2 คน ทีมนักจิตวิทยา สนใจโมเดลสุขเป็น จึงประสานขอเครื่องมือที่ใช้ในการทำกิจกรรมเช่น เกมเศรษฐี มองโลกแง่ดี บันไดงูสุขเป็น เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นชวนให้ใจฟู คือ ผู้ต้องขังที่เข้าร่วม 40 คนและเจ้าหน้าที่ 140 คน ให้การตอบรับที่ดีมาก และอยากให้นำกิจรรมนี้มาจัดในเรือนจำตลอดไป ซึ่งทำให้ทีมนักจิตวิทยาตั้งเป้าหมายจัดกิจกรรมทุกไตรมาส รวมถึงเกิดแกนนำในกลุ่มผู้ต้องขังจากกิจกรรมครั้งที่ 1 ที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆ ได้ค่ะ” อ.ลัม เล่าให้ฟัง


รู้จักโมเดลสุขเป็น กันสักนิด

สสส.ได้พัฒนาโมเดลขับเคลื่อนมาตรการสร้างเสริมสุขภาพจิตผ่านกลไกชุมชน ด้วยการ “สร้าง” สุขภาพจิตเชิงบวก ผ่านแนวทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก ด้วยหลัก PERMA มีองค์ประกอบหลัก 5 ด้าน 1. สร้างการมีส่วนร่วม 2. ทำให้มีความรู้สึกเชิงบวก 3. การมีความสัมพันธ์ที่ดี 4. การมีชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย 5. มีความสำเร็จ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะทางจิตใจในเชิงบวก สามารถดูแลใจตัวเองและรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้

สสส.ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เด็ก เยาวชนและครอบครัว หรือ โครงการ “สุขเป็น” พัฒนาศักยภาพกลไกท้องถิ่นและชุมชน นำร่องใน 12 พื้นที่ 6 จังหวัด สร้างเครื่องมืออย่างง่ายที่เข้ากับบริบทชุมชน และชุมชนมีส่วนร่วมนำไปถ่ายทอดผ่านการพัฒนาแกนนำเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตและส่งต่อไปยังประชาชนในพื้นที่

ชูไชย นิจไตรรัตน์ (พี่ตุ้ม) รองผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) ให้ข้อมูลโมเดลสุขเป็น ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามการดำเนินงานกลุ่มงานสร้างเสริมสุขภาพจิตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ว่า

“สุขเป็น ดำเนินการนำร่องใน 12 พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ 1. กรุงเทพ ที่แขวงประเวศ เขตประเวศ และแขวงหนองแขม เขตหนองแขม 2. สมุทรสาคร ที่ ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว และ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน 3. นนทบุรี ที่ ต.ละหาร อ.บางบัวทอง และ ต.ท่าทราย อ.เมือง 4. เชียงใหม่ ที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง และ ต.โปงทุ่ง อ.ดอยเต่า 5. ประจวบคีรีขันธ์ ที่ ต.เขาล้าน อ.เมือง และ ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย 6. นครศรีธรรมราช ที่ ต.บ้านตูล อ.ชะอวด และ ต.บ้านชะอวด อ.จุฬาภรณ์

การดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดแกนนำสื่อสารกับคนในพื้นที่ สร้างเครื่องมือตามกรอบแนวทางจิตวิทยาเชิงบวก ปรับพฤติกรรมด้วยการสร้างสุขอย่างง่ายจากกิจกรรม เช่น “ขอบคุณ” “สุขอย่างยั่งยืน” “12 Tips-สุขเป็น” สำรวจความสุข” “Self care ดูแลตัวเอง” “การสื่อสารเชิงบวก” “Character Strengths” “ล้มแล้วลุกได้” และต่อไปจะรวบรวมการทำงานเป็น “คู่มือแนวทางทำงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงบวกในชุมชนโดยชุมชน



พัฒนาตัวเองพัฒนาทีม มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

อ.ลัม เล่าความประทับใจปิดท้าย ให้ฟังว่า การทำงานโครงการฯ นี้ ทำให้ได้เพื่อน ได้ความรู้ ได้แลกเปลี่ยนเครื่องมือการดำเนินงาน ตัวเองเกิดการพัฒนาขึ้น ในระดับทีมคณะทำงานประเด็นสุขภาพจิตก็เกิดการพัฒนาตัวเองขึ้นในหลายมิติ ทั้งเรื่องส่วนตัว งานที่กำลังขับเคลื่อน ได้เชื่อมประสานและมีเป้าหมายไปด้วยกัน
“เราทำคนเดียวก็รู้สึกเหนื่อยในบางครั้ง เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้ว ภาระหน้าที่คือ ครูชีววิทยา แต่มีความสนใจงานด้านจิตวิทยา เพราะเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องกลับมาดูแลใจตัวเอง และคนหนึ่งคนก็ส่งผลกับคนรอบข้างด้วย ถ้ามีทีม-คณะทำงานแบบนี้กระจายในสังคม ไม่ว่าจุดใดจุดหนึ่งที่เสมือนเป็นสารตั้งต้น จะทำให้สังคมเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นค่ะ”

Shares:
QR Code :
QR Code